วิธีแก้ Facebook ส่งเกมเอง (โป๊กเกอร์ – ZingPlay) ไปให้คนอื่น โดยที่เราไม่ได้เล่นจริง

ไม่กี่วันก่อน ผมได้นำเสนอ วิธีปิดแจ้งเตือนคำชวนเล่นเกมบน Facebook โดยเกมที่กำลังระบาดในช่วงนี้คือเกม Zing Poker, โป๊กเกอร์, ZingPlay, บิลเลียด ออนไลน์ และอื่นๆ ซึ่งวิธีดังกล่าวถือว่าเป็นการแก้ปัยหาที่ปลายเหตุ หรือเป็นการปิดแจ้งเตือนที่ฝั่งเราเฉยๆ การจะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุนั้นจะค่อนข้างยั่งยืนกว่า

ด้วยความสงสัย ผมจึงทักแชทไปถามเพื่อนคนที่ชอบส่งเกมมาให้ว่าทำไมถึงส่งมาจัง ผลปรากฏว่าเพื่อนคนดังกล่าว “ไม่ทราบ” ว่าตัวเองเป็นคนส่งเกมนั้นมาให้ …เอาหล่ะสิ ชักสนุก หมายความว่าบัญชี Facebook ของคนนี้ติด App ที่เป็นสแปมนั่นเอง (หลายคนอาจจะเรียกว่า ไวรัส Facebook, หรือ Facebook ติดมัลแวร์ ทำนองนี้)

วิธีแก้อาการติดสแปมบน Facebook ผมขอสรุปขั้นตอนใหญ่ๆ ออกเป็น 3 ขั้นตอนดังนี้

  1. ถอน App ที่เป็นสแปมออกให้หมด
  2. ถอนสิทธิ์การเข้าถึงบัญชี Facebook ของเรา จากผู้สร้างสแปม
  3. เสริมความปลอดภัยบัญชี Facebook ของเราให้แข็งแกร่ง

หมายเหตุ : แนะนำให้ทำบนคอมพิวเตอร์ผ่านโปรแกรมเว็บเบราเซอร์ เพราะทำในมือถือจะค่อนข้างยุ่งกว่า และใช้ฟีเจอร์บางอย่างไม่ได้ แต่ด้านล่างบทความ ผมก็มีวิธีสำหรับทำในมือถือแบบคร่าวๆ ให้ดูเป็นตัวอย่าง

ขั้นที่ 1 : ถอน App ที่เป็นสแปมออกให้หมด

เริ่มจาก เข้าไปที่เมนูการตั้งค่าของ Facebook ต้านมุมบนขวามือ

จากนั้นไปที่เมนู แอพ ทางด้านซ้ายมือ

จะปรากฏรายชื่อแอปทั้งหมด ที่เราให้สิทธิ์อนุญาตเข้าถึงข้อมูล Facebook ของเรา …สังเกตไหมครับ คนที่ติดสแปมแล้วส่งเกมไปหาคนอื่น จะมีรายชื่อแอปนั้นๆ ขึ้นอยู่เต็มไปหมด โดยเฉพาะในกรณีของ โป๊กเกอร์ – ZingPlay นี้มันจะใช้วิธีโคลนแอปมาหลายๆ ตัว ถึงแม้เพื่อนจะบล็อกแอปที่เราส่งไปตอนแรก ก็สามารถใช้แอปใหม่ที่โคลนมาส่งต่อไปได้ จุดนี้แหล่ะครับ ที่เราต้องถอนมันไปให้สิ้นซาก

แต่ก่อนจะถอน แนะนำให้กดเข้าไปที่ชื่อแอปนั้นๆ ก่อนสัก 1 อัน เพื่อกดรายงานไปให้ Facebook ตรวจสอบ เชื่อว่าหากเรากดหลายๆ คน จะยิ่งมีน้ำหนักให้ Facebook เข้ามาปราบปรามอย่างจริงจังได้

ทำการกดรายงานว่า แอพนี้เป็นสแปม

ส่งให้ Facebook ตรวจพิจารณา เป็นอันเสร็จการรายงาน

ขั้นต่อไป ให้เริ่มลบแอปเจ้าปัญหานั้นออกให้หมด โดยการนำเมาส์ไปที่มุมขวาบนของชื่อแอปนั้นๆ แล้วกดที่เครื่องหมายกากาบาท เพื่อลบ

ทำการติ๊กตรง ลบกิจกรรมใน… แล้วกด ลบออก

ทำไปเรื่อยๆ จนกว่าแอปที่เป็นสแปมหมด

คำถามต่อมาคือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าแอปไหนเป็นสแปมบ้าง ? บางแอปชื่อคุ้น บางแอปชื่อไม่คุ้นว่าเป็นคนกดอนุญาติมาเองหรือเปล่า ?

คำแนะนำของผมคือ อันไหนชื่อไม่คุ้นหรือไม่ใช้แบรนด์ดังจริงๆ “ลบออกให้หมด” ครับ เพราะถ้ายังคงเหลือแอปใดแอปหนึ่งที่เป็นสแปม มันก็จะสามารถหาช่องทางที่จะเรียกพวกหรือหาช่องโหว่ใหม่ๆ กลับมาได้ หากลบผิดไปก็ไม่ต้องกังวล เพราะการขอสิทธิ์พวกนี้ สามารถขอใหม่ได้ ไม่มีจำกัด

ขั้นที่ 2 : ถอนสิทธิ์การเข้าถึงบัญชี Facebook ของเรา จากผู้สร้างสแปม

เมื่อทำการลบแอปที่สงสัยว่าเป็นสแปมออกหมดแล้ว (จริงๆ แนะนำให้ลบออกทั้งหมดเลยดีกว่าครับ…ค่อยเชื่อมต่อใหม่อันที่จะใช้)  ขั้นต่อไป เราจะมาทำการถอนสิทธิ์การเข้าถึงบัญชีของเราจากผู้สร้างสแปมเหล่านี้ (ซึ่งอาจจะเป็น bot ของคนจริงๆ อีกที) กันครับ โดยเข้าไปที่เมนู ความปลอดภัย > สถานที่ที่คุณเข้าสู่ระบบ

จะปรากฏว่าบัญชี Facebook ของเราไป “ล็อกอิน” ที่ไหนไว้บ้าง ในกรณีนี้ Facebook ของคนที่ผมนำมาเขียนบทความ พบว่ามีรายการล็อกอินอันหนึ่ง ล็อกอินจากประเทศ “เวียดนาม” โดยที่เจ้าของบัญชีนี้ไม่ได้ไปประเทศเวียดนามเลย นั่นอาจหมายความว่ามีผู้ไม่ประสงค์ดีสามารถเข้าถึงบัญชีของเราได้จากประเทศเวียดนามนั่นั่นเอง (ให้เป็นสมมุติฐานไว้) จากนั้นให้ทำการ “ลบ” รายการล็อกอินนี้ออกไป โดยการกดที่ “หยุดกิจกรรม” หากเราหยุดกิจกรรมแล้ว หมายความว่าเครื่องนั้นๆ ที่ล็อกอิน Facebook ของเราอยู่จะเด้งหลุดทันที ต้องทำการล็อกอินใหม่

ซึ่งในหน้าต่าง สถานที่ที่คุณเข้าสู่ระบบ นี้ผมแนะนำให้ทำการ หยุดกิจกรรม ของทุกรายการทิ้งไปซะ ให้เริ่มล็อกอินใหม่ทุกอุปกรณ์จะชัวร์ที่สุด

แวะกลับมาเรื่องประเทศเวียดนามที่ผมตั้งเป็นสมมุติฐานไว้ว่าอาจเป็นรายการของผู้ไม่ประสงค์ดีที่สร้างแอปสแปมขึ้นมา … ซึ่งไม่รู้จะบังเอิญหรือเปล่าว่าแอป Poler Zingplay บนมือถือ ที่จะขึ้นมาพร้อมแจ้งเตือนตอนส่งเกม มีชื่อผู้สร้างเป็นชาว “เวียดนาม” อีกด้วยครับ

ถ้าคิดแบบมโนหน่อย ก็อาจจะเชื่อมโยงได้ว่ารายการล็อกอินแปลกปลอมจากเวียดนามอันนั้น ก็คือ bot หรือผู้ไม่ประสงค์ดีที่เป็นคนสร้างแอปสแปมนี้ขึ้นมา นั่นเอง ซึ่งอาจจะใช้วิธีแบบ automation ให้บัญชีของเราติดแอป Zingplay รัวๆ ดังที่เห็นต้นบทความ ก็เป็นไป

ขั้นต่อไป ให้ทำการ “เปลี่ยนรหัสผ่าน” บัญชี Facebook ของเราเพื่อความชัวร์ครับ เพราะไม่รู้ว่ารหัสผ่านของเราอาจจะหลุดไปให้ผู้ไม่ประสงค์ดีแล้วหรือไม่ ดังนั้นควรเปลี่ยนไว้ก่อนครับ เป็นอันเสร็จขั้นตอนที่ 2

สำหรับคนที่จะทำบนแอปสมาร์ทโฟน ก็สามารถทำได้ตามภาพด้านล่างนี้เลยครับ

การลบแอปที่เป็นสแปม

การเปลี่ยนรหัสผ่าน

ขั้นที่ 3 : เสริมความปลอดภัยบัญชี Facebook ของเราให้แข็งแกร่ง

ขั้นสุดท้ายอันนี้จริงๆ แล้วยังไม่จำเป็นต้องทำ แต่ผมแนะนำให้ทำไว้ก็ไม่เสียหายครับ เป็นขั้นตอนการเสริมความปลอดภัยให้บัญชี Facebook ของเรา

แบบเบสิคๆ : เปิดการแจ้งเตือนว่ามีใครกำลังล็อกอินเข้าสู่ระบบ Facebook ของเราหรือเปล่า หากมีก็จะปรากฏในรายการแจ้งเตือนทันที สามารถทำได้โดยการไปที่เมนู ความปลอดภัย > เตือนเข้าสู่ระบบ แล้วทำการติ๊กที่ รับการแจ้งเตือน หรือให้ส่งแจ้งเตือนไปที่อีเมลด้วยก็ได้ …หากมีแจ้งเตือนการล็อกอินใหม่ทั้งๆ ที่เราไม่ได้เป็นคนล็อกอิน ก็ให้สงสัยหรือเตรียมรับมือได้เลย

ขั้น advance : เปิดการใช้ระบบ OTP ในการเข้าระบบ คล้ายๆ กับของธนาคาร ก่อนจะโอนเงินต้องรับรหัสแบบครั้งเดียวจาก SMS ของเบอร์มือถือของเราก่อนเพื่อนำมากรอกหลังจากกรอกรหัสผ่านแบบปกติแล้ว ซึ่งฟีเจอร์นี้ Facebook ก็มีเช่นกัน โดยเข้าไปที่ ความปลอดภัย  > การอนุมัติการเข้าสู่ระบบ > ติ๊กเครื่องหมายถูก

เริ่มต้นใช้งาน

ดำเนินการต่อ

Facebook จะส่งรหัสยืนยันครั้งแรกมาที่ SMS ของเบอร์ที่เราลงทะเบียนไว้ (ไม่เสียค่าธรรมเนียม)

เป็นอันเสร็จการตั้งแต่ OTP ของ Facebook

เพียงเท่านี้บัญชี Facebook ของเราก็จะปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

อ้อ…แล้วครั้งต่อไป ก่อนจะกดอนุญาตให้แอปหรือเกมใดๆ เข้าถึงข้อมูล Facebook ของเรา ก็พิจารณากันดีๆ นะครับ ว่าแอปนั้นๆ ไว้ใจได้แค่ไหน ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นแบบนี้อยู่เรื่อยๆ ไป

แชร์ต่อหากบทความนี้มีประโยชน์ หรือส่งต่อไปให้เพื่อนของคุณที่ชอบส่งเกมมาให้ ฮ่าๆๆๆ


ส่งต่อเรื่องนี้ให้เพื่อน!