SSHD ทางเลือกของการเพิ่มความจุและความเร็ว ให้พีซี/โน๊ตบุ๊ก ในราคาประหยัด

พูดถึงชิ้นส่วนของคอมพิวเตอร์ นอกจากซีพียูและแรม อุปกรณ์ภายในอีกอย่างที่มีผลต่อความเร็วในการทำงานของเครื่องนั้นก็คืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลหรือฮาร์ดไดรฟ์ เนื่องจากการที่หน่วยจัดเก็บข้อมูลของเราทำงานได้เร็วเท่าไร การบันทึกข้อมูลลงไปหรือการเรียกข้อมูลขึ้นมาแสดงผลให้เราเห็นก็จะทำได้เร็วเท่านั้น (เช่น การเล่นเกม, การใช้โปรแกรมตัดต่อภาพ/วีดิโอ เป็นต้น) ซึ่งปัจจุบันคอมพิวเตอร์หรือแล็ปท็อปส่วนใหญ่มักจะใช้อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลที่เป็นฮาร์ดดิสก์ (HDD) แบบจานแม่เหล็กหมุน แต่ถ้าใครอยากให้คอมฯ ให้แรงขึ้น ก็มักจะเปลี่ยนจากการใช้ HDD ธรรมดา มาเป็น solid-state drive (SSD) ที่มีความเร็วในการอ่าน/เขียนข้อมูลสูงกว่า HDD หลายเท่า, ไม่ส่งเสียงดัง(เพราะไม่ใช้ระบบจานหมุน) แถมยังประหยัดพลังงานอีกด้วย แต่มีข้อเสียสำคัญตรงที่ราคาของ SSD ยังแพงกว่า HDD ธรรมดามากเลยทีเดียว

ด้วยความแตกต่างของประสิทธิภาพและราคาระหว่าง HDD กับ SSD ทำให้ ณ ตอนนี้มีอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลทางเลือกใหม่ที่มีชื่อว่า Solid State Hybrid Drive หรือ SSHD ออกมาอุดช่องว่างนั้นแล้ว กล่าวคือ SSHD เป็นอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพดีกว่า HDD ธรรมดา แต่มีราคาไม่สูงเกินเอื้อมเหมือน SSD นั่นเอง

หลักการทำงานของ SSHD คือการรวมเอา SSD กับ HDD ธรรมดามาไว้เป็นชิ้นเดียวกัน ซึ่งในตัว SSHD จะมีส่วนที่เป็น SSD อยู่ 8 GB ทำหน้าที่ในการเก็บแคชข้อมูลหรือเป็นบัฟเฟอร์ขนาดใหญ่ เพื่อให้การเรียกใช้งานโปรแกรมหรือไฟล์ต่างๆ บนระบบปฏิบัติการของเครื่องทำได้เร็วยิ่งขึ้น โดยเนื้อที่ในส่วนที่เป็น SSD นั้นเราจะไม่สามารถเข้าไปยุ่งหรือจัดการได้ เนื่องจากตัวควบคุมการทำงานของ SSHD จะทำการจัดสินใจเองว่าจะเก็บไฟล์ไหนไว้ใน SSD Caching เอง …กล่าวคือ เราสามารถใช้ SSHD ได้ตามปกติเหมือน HDD ทั่วไป ไม่ต้องไปจัดการตั้งค่าอะไรให้วุ่นวาย

ชมวีดิโอแนะนำหลักการทำงานและข้อดีของ SSHD แบบสั้นๆ

แน่นอนว่าอุปกรณ์ที่ผมจะมาแนะนำและทดสอบให้ชมในตอนนี้ จะเป็น SSHD จากแบรนด์ Seagate ซึ่งนับว่าเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์เก็บข้อมูลรายแรกๆ ที่บุกเบิกตลาด SSHD ในหมู่ผู้ใช้ทั่วไปเลยก็ว่าได้ โดย SSHD ที่ผมได้มาทดสอบครั้งนี้ จะเป็น SSHD สำหรับแล็บท็อปขนาด 2.5 นิ้ว ความจุ 1,000 GB และถึงแม้จะเป็นรุ่นสำหรับแล็บท็อป แต่จริงๆ แล้วเราสามารถนำ Seagate SSHD ตัวนี้ไปใช้ร่วมกับ PC (ตั้งโต๊ะ), MacBook หรือเครื่องเล่นเกมคอนโซลชื่อดังอย่าง PlayStation 4 ได้ด้วย (ดังวีดิโอแนะนำการติดตั้ง SSHD ใน PS4 ด้านล่าง)

รูปร่างหน้าตาของ SSHD ตัวนี้ ก็คล้ายกับ HDD ของโน๊ตบุ๊กทั่วไป มีขนาดมาตรฐาน 2.5 นิ้ว สามารถใช้งานร่วมกับโน๊ตบุ๊กน่าจะเกือบทุกรุ่น รวมถึง MacBook Pro ของผมที่จะนำมาทดสอบใช้งาน SSHD ในครั้งนี้ด้วย

การเปลี่ยนจาก HDD ธรรมดาเป็น SSHD ก็ไม่ยากครับ เพียงไขฝาด้านหลังของเครื่องเพื่อถอด HDD ตัวเก่าออกมา

จากนั้นนำ SSHD ใส่แทนที่ลงไป แล้วไขน๊อตเก็บให้เหมือนเดิม ไม่ต้องไปปรับแต่งหรือใช้อุปกรณ์เสริมใดๆ ใช้เวลาไม่ถึง 10 นาทีครับ

หลังจาก MacBook Pro ของผมเปลี่ยนเป็น SSHD แล้ว ซึ่งยังภายในนั้นยังเป็นเพียงพื้นที่ว่างเปล่าไม่มี OS ใดๆ ผมจึงได้ทำการติดตั้ง OS X ระบบปฏบัติการสำหรับเครื่องแมคลงไป หรือใครใช้โนตบุ๊กทั่วไปจะลง Windows, Linux หรืออะไรก็ได้ครับ และสำหรับคนที่ไม่ชำนาญเรื่องการติดตั้ง OS บน SSHD ใหม่ก็ไม่ใช่ปัญหาครับ ทาง Seageate ได้จัดเตรียมคู่มือพร้อมโปรแกรมช่วย Clone ฮาร์ดดิสก์จากลูกเก่ามาไว้ใน SSHD แจกฟรีด้วยครับ ชื่อโปรแกรมว่า DiscWizard (คลิกที่นี่เพื่อดาวน์โหลด)

เมื่อติดตั้งเสร็จแล้ว ลองเข้าไปเช็ค Properties จากตัว OS X ดู ก็จะพบว่าตัว OS ของเราเห็นเนื้อที่ใน SSHD ครบถ้วน 1000GB ครับ

ในแง่ประสิทธิภาพของ SSHD นั้น จากที่ผมได้ทดสอบใช้งานแล้วจะเห็นได้ชัดเมื่อใช้งานไปสักพักนึง เช่น เปิดโปรแกรม Photoshop ครั้งแรก ความเร็วจะไม่ต่าง แต่ถ้าเปิดครั้งที่ 2-3 ไปแล้วจะเห็นได้ชัดว่าเปิดโปรแกรมได้เร็วขึ้น หรือการบูตเครื่อง(เปิดเครื่องใหม่) ในครั้งที่ 2-3 จะเร็วขึ้นอย่างเห็นได้ชัดครับ เพราะตัว SSHD ได้ทำการนำไฟล์ที่คาดว่าจะถูกเรียกใช้งานบ่อยๆ ไปเก็บไว้ในส่วนที่เป็น SSD ทำให้เรียกใช้งานไฟล์ส่วนนั้นได้เร็วกว่าการจัดเก็บใน HDD ปกติ

วีดิโอทดสอบการบูท OS X บน MacBook Pro ด้วย SSHD ใช้เวลา 17 วินาทีเท่านั้น !

ทดสอบการบูท Windows 10 บน MacBook Pro (BootCamp) ใช้เวลาในการบูทราวๆ 22-23 วินาที

ลองทดสอบ Copy ไฟล์ .ISO ขนาด 4GB จาก Ext. HDD ด้วยสาย USB 3.0 ถ้าเป็น HDD แบบปกติ ใช้เวลาประมาณ 2 นาที (อัตราการเขียนข้อมูลอยู่ที่ 30 – 35 Mbps)

แต่เมื่อใช้ไฟล์เดียวกันกับข้างบน ทดสอบ Copy ลง SSHD จะใช้เวลาประมาณ 50 วินาทีเท่านั้น (อัตราการเขียนข้อมูลอยู่ที่ 65 – 75 Mbps)

จะเห็นว่าประสิทธิภาพการทำงานของ SSHD มีความแตกต่างกับ HDD อย่างเห็นได้ชัด แม้ไม่หวือหวาเหมือน SSD แต่ถ้ามองเรื่องความคุ้มค่าของราคาก็น่าพอใจไม่น้อยครับ ซึ่งผมจะเปรียบเทียบราคาของอุปกรณ์ทั้ง 3 ชนิดให้เห็นภาพกันดังนี้ครับ

  • HDD ธรรมดา ความจุ 1TB ราคาประมาณ 1,600 – 2,000 บาท
  • SSHD ความจุ 1TB (ตัวที่ผมได้มาทดสอบ) ราคาประมาณ 3,800 – 4,200 บาท
  • SSD ความจุ 1TB ราคาประมาณ 10,000 – 15,000  บาท

จะเห็นว่าในช่วงความจุที่เทียบเท่ากัน HDD จะมีราคาถูกที่สุด รองลงมาเป็น SSHD ส่วน SSD จะมีราคาที่กระโดดขึ้นไปมากกว่าพวก ดังนั้นใครที่งบน้อย คิดจะเพิ่มความจุของฮาร์ดดิสก์และอยากได้ความเร็วในการใช้งานด้วย SSHD นับว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียวครับ

สนใจดูรายละเอียดของ Seagate Laptop SSHD ที่ผมนำมาทดสอบครั้งนี้ได้ที่ > คลิก


ส่งต่อเรื่องนี้ให้เพื่อน!