รีวิว LINKSYS VELOP ตัวเพิ่มสัญญาณ WiFi ให้แรง/ครอบคลุมทั่วทั้งบ้าน
สำหรับคนที่ติดเน็ตไฟเบอร์ที่บ้านด้วยแพ็กเกจความเร็วระดับ 100Mbps ขึ้นไปเคยเจอปัญหานี้กันไหมครับ ? ว่าทำไมทดสอบความเร็ว (speedtest) แล้วไม่ได้ความเร็วเต็มแพ็กเกจที่เราจ่ายเงิน เช่น ติดเน็ต 100Mbps แต่ใช้มือถือทดสอบความเร็วได้จริงแค่ 20-40Mbps หลายคนก็อาจจะคิดว่าเป็นความผิดของผู้ให้บริการหรือเปล่าที่ปล่อยเน็ตมาไม่ตรงตามแพ็กเกจ ? แต่แท้จริงแล้วอาจจะเป็นที่ “ข้อจำกัด” ของอุปกรณ์ที่ใช้ปล่อยสัญญาณ WiFi ที่บ้านเราก็เป็นได้ครับ ซึ่งอุปกรณ์ที่ผมจะมารีวิวในวันนี้เรียกว่าเป็นอุปกรณ์ช่วยเพิ่มสัญญาณ WiFi ให้แรงแบบเต็มประสิทธิภาพกับแพ็กเกจที่เราติดตั้ง รวมถึงยังสามารถช่วยแก้ปัญหาสำหรับคนที่บ้านหลังใหญ่มีหลายห้อง หลายชั้น แล้วสัญญาณ WiFi ไปได้ไม่ทั่วถึง เจ้าอุปกรณ์ตัวนี้ก็สามารถช่วยแก้ปัญหาได้เช่นกัน
อุปกรณ์ที่ว่านี้ก็คือ LINKSYS VELOP นั่นเอง เป็นอุปกรณ์ประเภทช่วยปล่อยและเพิ่มสัญญาณ WiFi ด้วยเทคโนโลยี Mesh ต่างจากการใช้ WiFi Router, Access Point หรือ Repeater แบบที่ค่ายเน็ตแถมมาให้ทั่วไป ตรงที่เทคโนโลยี Mesh จะเป็นการให้อุปกรณ์ปล่อยสัญญาณพร้อมกันได้ 2-3 ตัว โดยที่ไม่มีการรบกันช่องสัญญาณกัน คุณภาพของสัญญาณ WiFi ไม่ดรอปลง ส่งผลให้ใช้งาน WiFi ได้สเถียรและได้ความเร็วที่เต็มประสิทธิภาพตามที่ออกมาจาก Router เลยทีเดียวครับ
ภาพตัวอย่างเปรียบเทียบการทำงานของ Velop กับการใช้ตัวปล่อย WiFi แบบ Repeater
จากภาพจะเห็นว่าการทำงานของ Velop ที่ใช้เทคโนโลยี Mesh จะทำให้อุปกรณ์แต่ละตัวปล่อยสัญญาณ WiFi ได้ออกมาอย่างเต็มประสิทธิภาพเทียบเท่ากันทุกตัว แต่ตัวปล่อย WiFi แบบ Repeater ทั่วไปหากยิ่งพ่วงตัวปล่อยหลายๆ ชิ้น ยิ่งทำให้คุณภาพสัญญาณลดลง แถมอาจจะเกิดปัญหาความถี่ของคลื่นชนกันได้ง่ายอีก หากอุปกรณ์ที่ใช้ไม่รองรับการตั้งค่าแบบ advance หรือผู้ใช้งานไม่มีความชำนาญในการตั้งค่าให้ช่องสัญญาณไม่ชนกัน
ดูทฤษฏีคร่าวๆ ไปแล้ว มาชมรีวิวอุปกรณ์จริงของ LINKSYS VELOP กันเลยดีกว่าครับ เร่ิมจากกล่องหรือแพคเกจจิ้งกันก่อนเลย … โดยอุปกรณ์ที่ผมได้มีรีวิวนั้นเป็น LINKSYS VELOP แบบแพ็ค 3 คือจะได้ตัวปล่อยสัญญาณมา 3 ตัวอยู่ในกล่องเดียวกัน (มีขายแยกแบบ 1 ตัว 2 ตัว ด้วยนะครับ)
ด้านข้างของกล่องก็มีการบอกสรรพคุณ และสเปคตามปกติ
เปิดกล่องออกมาก็จะพบกับ LINKSYS VELOP ทั้ง 3 ชุดพร้อมอะแดปเตอร์ ซึ่งแต่ละชุดนั้นสเปค ขนาด และรูปร่างเหมือนกันทุกประการครับ
รูปร่างของ LINKSYS VELOP เป็นลักษณะแท่งสี่แหล่มแนวตั้ง ใช้พื้นที่ในการวางไม่เยอะ ทำออกมาได้ดูดี และเรียบหรูพอสมควรครับ
พอร์ตการเชื่อมต่อต่างๆ ทั้งสาย power และช่องสำหรับเสียบสายแลน (มีให้ 2 ช่องสำหรับเข้า และออก) จะอยู่ด้านล่างของอุปกรณ์ทั้งหมดครับ
ที่มุมด้านหนึ่งของของล่างจะเป็นพลาสติกที่ยืดหยุ่นได้ สำหรับให้สายเชื่อมต่อต่างๆ ลอดผ่านไปได้
เมื่อจับอุปกรณ์ตั้งแล้วทำให้สายที่เชื่อมต่อดูไม่เกะกะสายตา …ว่าแล้วผมก็เริ่มทดสอบการใช้งานเลยครับ โดยการเสียบสายแลนที่ออกมาจากเราเตอร์เข้ามาที่ตัว LINKSYS VELOP 1 สาย
แต่ก่อนที่จะไปขั้นตอนการตั้งค่าการใช้งาน ผมอยากจะให้ทำความเข้าใจรูปแบบการเชื่อมต่อของ LINKSYS VELOP กันก่อนครับ
โดยแน่นอนว่าการเชื่อมต่อเน็ตจากเราเจอร์เข้ามาที่ LINKSYS VELOP ตัวแรกนั้นจำเป็นจะต้องใช้สายเลนเชื่อมต่อเข้ามาที่ตัวแรก แต่ถ้าหากต้องการใช้ LINKSYS VELOP ทำงานผสานกัน มากกว่า 1 ตัวในบ้านของเรานั้น ตัวที่ 2, 3, 4 หรือตัวต่อๆ ไป สามารถทำได้ทั้งแบบไร้สาย และแบบใช้สายเลยครับ
แผนผังจำลองการทำงานของ LINKSYS VELOP หลายตัวแบบไร้สาย
แผนผังจำลองการทำงานของ LINKSYS VELOP หลายตัวแบบใช้สายและไร้สายผสมกัน
การเชื่อมต่อ LINKSYS VELOP หลายตัวเข้าหากันจะมีประโยชน์ในกรณีที่บ้านของเรามีขนาดใหญ่ มีหลายชั้น หรือมีห้องหลายห้อง VELOP แต่ละตัวจะช่วยกันปล่อยสัญญาณให้กระจายได้อย่างทั่วถึงตามพื้นที่ที่เราต้องการ
โดยข้อดีของเทคโนโลยี Mesh คือตัวปล่อย (VELOP) แต่ละตัวจะทำงานผสายกันแบบไร้รอยต่อ ไม่มีปัญหาการตีกันของคลื่น และที่สำคัญเราจะได้ชื่อ WiFi หรือ SSID เป็นชื่อเดียวกันทั้งบ้าน เดินย้ายไปเล่นห้องไหน พื้นที่ไหนก็ใช้ SSID ในชื่อเดิมไม่ต้องคอนเน็กใหม่ ซึ่งแบบนี้แบบนี้หากเป็น Access Point หรือ Repeater แบบเดิมๆ บางรุ่นก็สามารถทำได้ แต่อาจจะต้องมีความรู้ในการตั้งค่าเพื่อไม่ให้ช่องสัญญาณชนกัน ซึ่งถ้าเป็น VELOP แล้วสามารถตั้งค่าได้เองผ่านแอพในมือถือด้วยการจิ้มไม่กี่ครั้งก็พร้อมใช้งานทันทีครับ
กลับมาที่การตั้งค่าเพื่อใช้งาน LINKSYS VELOP กันต่อ…
ก่อนอื่นให้ดาวน์โหลดแอพที่ชื่อ Linksys มาไว้ในสมาร์ทโฟนของเราก่อนครับ (มีทั้งระบบ Android และ iOS) หลังจากติดตั้งแอพเรียบร้อยแล้วทำการต่อสายแลน และเสียบปลั๊กเข้ากับ LINKSYS VELOP ได้เลย โดยรอให้ไฟสถานะของ LINKSYS VELOP เป็นสีม่วงก่อนจึงจะเริ่มทำการตั้งค่าได้
การตั้งค่าให้ใช้สมาร์ทโฟนของเราเชื่อมต่อ WiFi ไปที่ชื่ออุปกรณ์ของเรา โดยสามารถดูชื่อและรหัสผ่านสำหรับการเชื่อมต่อของอุปกรณ์ของเราได้ที่ด้านล่างของ LINKSYS VELOP แต่ละตัว
เมื่อเชื่อมต่อ WiFi เข้ากับตัวอุปกรณ์ LINKSYS VELOP ได้แล้วให้เข้ามาที่แอพ Linksys ได้ครับ จากนั้นแอพจะถามเราว่าต้องการ set up อุปกรณ์ใด ในที่นี้ก็เลือกว่า A Velop System จากนั้นเลือกรูปแบบการเชื่อมต่อเน็ตของเราว่าเราใช้โมเด็มหรือเราเตอร์แบบใด
แอพจะแนะนำให้เราเชื่อมต่อสายต่างๆ ให้ถูกต้องอีกครั้ง
เมื่อตัว LINKSYS VELOP เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตจากโมเด็มหรือเราเตอร์ได้แล้วจะขึ้นข้อความว่า Cennected แล้วรออีกสักครู่…
จะให้เราตั้งค่าชื่อของสัญญาณ WiFi หรือ SSID ที่เราต้องการ พร้อมกำหนดรหัสผ่านสำหรับการเชื่อมต่อ กด Next แล้วรอสักครู่…
ขั้นต่อมาเป็นการระบุชื่อเรียกว่า node นี้ หรืออุปกรณ์ LINKSYS VELOP ตัวนี้จะชื่อ node ว่าอะไร เช่นถ้าวางในห้องนั่งเล่นก็ตั้งช่อว่า Living Room หรืออยู่ในห้องนอนก็ Bedroom หรือเราจะตั้งชื่ออื่นๆ ตามที่เราเข้าใจเช่น floor1, (สำหรับตัวที่วางอยู่ชั้น 1) floor2, floor3 เป็นต้น เป็นอันเสร็จการตั้งค่า VELOP ตัวแรก ! (เห็นมั้ย… ง่ายมากทำได้เองภายในการจิ้มไม่กี่ครั้ง ไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่อง Network ขั้นสูงเลย)
จากนั้นตัวแอพจะถามต่อว่าต้องการเพิ่ม node อื่นๆ เลยไหม ซึ่ง node อื่นๆ ในที่นี้ก็หมายถึง VELOP อีกตัวที่เราต้องการให้มาช่วยกันปล่อยสัญญาณด้วยกันนั่นเอง โดยเราจะทำการเพิ่มเลยหรือจะเพิ่มภายหลังก็ได้ครับ ทั้งนี้มีคำแนะนำเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดว่าแต่ละ node ควรอยู่ห่างกันไม่กิน 30-60 ฟุตนะครับ ไม่เช่นนั้น VELOP แต่ละตัวจะทำงานผสานกันไม่ได้ โดยเฉพาะถ้าต่อ node ต่อไปแบบไร้สาย ถ้าอยู่ห่างกันเกิดไป node ที่ 2 จะมองไม่เห็น node ที่ 1 ได้ครับ
เมื่อตั้งค่าเสร็จแล้วตอนนี้ WiFi ของเราก็พร้อมใช้งานแล้วครับ (ผมตั้งชื่อ SSID เป็น TANA-WiFi) และเมื่อกลับเข้าไปในแอพ LINKSYS จะเป็นหน้า Dashboard แสดงสถานะการทำงาน LINKSYS VELOP ของเรา
ในหน้า Dashboard สามารถดูได้ง่ายๆ ว่าตอนนี้มีอุปกรณ์กี่ชิ้นที่มาแกะสัญญาณ WiFi นี้บ้าง อุปกรณ์แต่ละตัวเชื่อมต่อสัญญาณย่านใด พร้อมระบุชื่อ node ที่อุปกรณ์นั้นๆ เชื่อมต่ออยู่ด้วย
ว่าแล้วลองมาทดสอบความเร็ว WiFi กันเลยครับ อันนี้ผมใช้เน็ตความเร็ว 100Mbps ทดสอบใน iPhone 7 Plus ที่รองรับ WiFi คลื่น 5GHz ได้ความเร็วเป็นที่น่าพอใจมากครับ ในระดับ 90Mbps++ ถือว่าใช้ได้ปกติครับ
ทีนี้ลองมาเปรียบเทียบประสิทธิภาพกันบ้างครับว่ามี VELOP ตัวเดียวกับมี VELOP หลายตัวที่ทำงานผสานกันแบบ Mesh ส่งผลให้ความเร็วในพื้นที่อื่นๆ แตกต่างกันขนาดไหน
ภาพด้านล่างนี้เป็นการทดสอบความเร็วในอาคารชั้น 2 (ตัว VELOP ตัวแรกอยู่ที่ชั้น 1) จะเห็นว่าด้วยการขวางของพื้นปูนและเพดาน ทำให้สปีดที่ชั้น 2 ตกลงเหลือ 20-30 Mbps เลยทีเดียว (เรื่องนี้น่าจะเป็นปัญหาที่หลายๆ คนเจอ!!)
แต่เมื่อผมเอา LINKSYS VELOP อีกตัวมาติดตั้งเป็น node ที่ 2 เพิ่มที่ชั้น 2 ให้รับสัญญาณจาก node ที่ 1 ที่อยู่ชั้น 1 ผลปรากฏว่าเมื่อทดสอบความเร็ว คราวนี้ได้สปีดพุ่งขึ้นมาเป็น 60-70Mbps เกือบจะเทียบเท่าการเล่นที่ชั้นล่างเลยครับ
สำหรับเน็ตบ้าน ความเร็ว 50-100Mbps อาจจะไม่เห็นความแตกต่างเท่าไร แต่ถ้าจะให้เห็นชัดๆ ผมได้ลองทดสอบใช้งานกับเน็ตความเร็ว 1000Mbps หรือ 1Gbps หากทดสอบที่หน้า VELOP node แรกเลยจะได้ความเร็วที่ 520Mbps (ถือว่าสุดความสามารถของ iPhone 7 Plus ของผมละ T^T)
แต่เมื่อไปเล่นที่ชั้น 2 ของอาคารความเร็วจะตกเหลือเพียง 195Mbps เองครับ หายไปเยอะมาก !
แต่ถ้าหากเพิ่ม VELOP อีกตัวเอามาปล่อยใกล้ๆ การใช้งานบนชั้น 2 ความเร็วดีดกลับไปที่หลัก 400Mbps ได้เลยทีเดียวครับ
ดูทดสอบการใช้งานผ่าน WiFi ไปแล้ว ขอแถมการทดสอบการใช้งานผ่านสายแลนบ้างครับ เผื่อหลายคนจะเอามาต่อเข้าคอม ซึ่งพอร์ตแลนของ VELOP ก็จะเป็นพอร์ตแบบ Gigabits ทำให้ได้ความเร็วสูงสุด 1Gbps ครับ
ทดสอบใช้งาน VELOP กับเครื่องคอมผ่านสายแลน ได้ความเร็ว 600-700Mbps เลยทีเดียว เรียกว่ามาแรงตามมาตรฐานเน็ต 1Gbps
หลายคนฝากคำถามว่า VELOP มีปัญหาเรื่องความร้อนไหมเมื่อเปิดใช้งานนานๆ ติดต่อกัน … เลยย้อนกลับมาดูที่ตัวเครื่องของ VELOP กันอีกครั้งครับ ว่าด้านข้าง 2 ใน 4 ด้านของ VELOP จะเป็นรูสำหรับการระบายความร้อนครับ ซึ่งผมลองวาง VELOP ในห้องปกติที่ไม่ใช้ห้องแอร์ติดต่อกันทั้งวัน ก็พบว่ามีอุ่นๆ บ้าง ไม่ถึงกับร้อนจี๋ครับ
กลับมาที่ฟีเจอร์ที่น่าสนใจของ LINKSYS VELOP ในแอพของ LINKSYS อีกนิดหน่อยครับ น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับหลายๆ คน
Parental Controls สามารถกำหนดสิทธิ์การใช้งานอินเทอร์เน็ตให้อุปกรณ์แต่ละตัวได้ เช่นกำหนดให้แท็บเล็ตของลุกสามารถใช้งานได้ช่วงไหน วันไหนบ้าง ไม่ให้เล่นตลอดทั้งวันทั้งคืน เป็นต้น
Connection Type สามารถเลือกรูปแบบการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้หลายแบบ ทั้งการกำหนด Static IP, DHCP, PPPoE, PPTP รวมถึงการทำเป็น Bridge Mode ซึ่งเรื่องพวกนี้ต้องอาศัยความรู้ทางเน็ตเวิร์กนิดนึงครับ :)
ตัวอย่างการตั้งค่าเป็น Bridge Mode ซึ่งหากตั้งค่าเป็นโหมดนี้ จะไม่สามารถควบคุมอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อได้ LINKSYS VELOP จะเป็นเพียงทางผ่านเพื่อส่งสัญญาณเท่านั้น ตัวจัดการอุปกรณ์จะเป็นหน้าที่ของเราเตอร์ต้นทาง
Guest Access สามารถสร้าง SSID เพิ่มอีก 1 อันสำหรับให้แขกที่มาบ้าน หรือสำหรับใช้เฉพาะกิจขึ้นมาได้
รวมถึงหากมีการอัพเดท Firmware ต่างๆ ก็สามารถทำได้ผ่านแอพ LINKSYS เช่นกัน
สรุป
- LINKSYS VELOP ช่วยให้กระจายสัญญาณ WiFi ไปได้ทั่วทั้งบ้าน
- ลดปัญหาการตีกันของคลื่น WiFi ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพทั้งคลื่น 2.4GHz และ 5GHz
- ช่วยให้ WiFi ของทั้งบ้าน (ชั้นอื่นๆ ห้องอื่นๆ) เป็นชื่อเดียวกัน
- ติดตั้งง่ายผ่านแอพบนสมาร์ทโฟน ไม่ต้องคอนฟิกยุ่งยาก
- ฟีเจอร์อื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น จำกัดการใช้งานของอุปกรณ์บางตัวได้
- เหมาะสำหรับคนที่ติดเน็ตบ้านความเร็ว 100Mbps ขึ้นไป
สำหรับอุกรณ์ LINKSYS VELOP ที่ผมได้มารีวิวนี้ผมได้รับการสนับสนุนจาก True IoT
โดยราคาของ LINKSYS VELOP แบบชุด 3 ตัวอย่างที่ผมได้มารีวิวนั้นราคาขายปกติอยู่ที่ 17,990 บาท แต่ถ้าเป็นลูกค้า True Online จะได้รับส่วนลด 3,000 บาท เหลือ 14,990 บาท พร้อมรับประกัน 3 ปี สนใจติดต่อได้ที่ ทรูช้อป ที่ร่วมรายการ ได้แก่
- True Shop Central Bangna
- True Shop Central Airport Plaza Chiangmai
- True Shop Central Plaza Udonthani
- True Shop Central Rama 2
- True Shop Central Pinklao
- True Shop Central Ladprao
- True Shop CP Tower
- True Shop Central Rama 3
- True Shop at Chamchuri Square 1
- True Shop Paradise Park Srinakarin
- True Shop Mega Bangna
- True Shop Central World 4Fl.
- True Shop The Mall Nakhonratchasima 3Fl
- True Shop Central Embassy
- True Shop Emquartier
- True Shop Central Plaza Westgate
- True Shop Central Festival East Ville
- True Shop Bluport Huahin
- True Shop Maya Chiangmai
- True Shop Central Plaza Mahachai
หรือสั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ www.wemall.com