dtac แถลงย้ำ… ย้ายค่ายต้องกรอกแบบฟอร์ม และเซ็นลายมือชื่อ เพื่อป้องกันมิจฉาชีพ

ยังเป็นประเด็นต่อเนื่องมาตั้งแต่ 2 สัปดาห์ที่แล้ว เมื่อเอไอเอสและดีแทคได้ร่วมกันร้องเรียน กสทช. กรณีที่มีผู้ให้บริการรายหนึ่ง (ไม่บอกก็รู้ว่าคือใคร 😆) ดำเนินการย้ายค่ายให้ลูกค้าค่ายอื่นมาค่ายของตนแบบไม่เป็นธรรม กล่าวคือ เป็นการย้ายที่ร้านสะดวกซื้อ (7-11) โดยใช้เพียงแค่บัตรประชาชนเสียบไปที่เครื่องอ่านบัตรก็สามารถย้ายค่ายได้ทันที แต่ภายหลัง กสทช. ก็ออกมาแถลงว่าการย้ายดังกล่าวสามารถทำได้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 (อ่านข่าวเดิม) หลายคนก็คิดว่าเรื่องจะจบแล้ว

แต่ล่าสุดทางดีเทคได้ออกมาแถลงเน้นย้ำการกระทำดังกล่าวดังกล่าวว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง โดยดีแทคได้ยึดหลักปฏิบัติการย้ายค่ายเบอร์เดิม ตามมิติที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 22/2556 ว่า กรอกแบบฟอร์มคำร้องและลงนามเพื่อยืนยันความเป็นเจ้าของบัตรประจำตัวประชาชน ตามที่ระบุไว้ตามกฎของ กสทช. อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันมิให้มีช่องว่างจากเหล่ามิจฉาชีพต่างๆ …พร้อมกันนี้ยังได้ทำ infographics ขั้นตอนการย้ายค่ายที่ถูกต้อง(ตามความคิดของดีแทค) มาเผยแพร่ด้วยครับ

นอกจากนี้ยังมี infographics อะิบายว่าเพราะเหตุใดจึงย้ายค่ายช้า หรือไม่สำเร็จ (หรือที่หลายคนพูดว่ามีการดึงไม่ให้ย้าย นั่นเอง)

[ดูแผนภาพฉบับเต็มๆ คลิกที่นี่]

ข้อความจากอีเมลประชาสัมพันธ์

24 กุมภาพันธ์ 2559 – ดีแทคมีความยินดีอย่างที่ที่ กสทช. ได้มีมติให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์ทุกราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโอนย้ายในร้านสะดวกซื้อ ต้องปฏิบัติตามประกาศ กสทช.  เรื่อง หลักเกณฑ์บริการคงสิทธิ์เลขหมายและเงื่อนไขแนวทางปฏิบัติการโอนย้ายผู้ให้บริการในทุกเรื่องทุกขั้นตอน ทั้งนี้ เพื่อปกป้องสิทธิ์และลดช่องโหว่ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใช้บริการโดยรวม

นายซิกวาร์ท โวส เอริคเซน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “ที่ผ่านมา ก่อนที่ดีแทคจะรับการโอนย้ายลูกค้าต่างเครือข่ายเข้าระบบ ดีแทคจะขอให้ผู้ขอโอนย้ายกรอกแบบคำขอในการโอนย้ายเข้าและมีการลงนามให้ถูกต้องชัดเจน ซึ่งเป็นการคุ้มครองผู้ใช้บริการตัวจริง เพราะผู้ขอโอนย้ายจะได้รับทราบเงื่อนไขขั้นตอนการโอนย้าย อีกทั้งผู้ขอโอนย้ายต้องลงนามยืนยันความเป็นเจ้าของบัตรประชาชนและเอกสารอื่นที่นำมาใช้ประกอบการโอนย้ายพร้อมเลขหมายโทรศัพท์ว่าเป็นของตนจริงหรือไม่ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำให้ผู้ให้บริการช่วยตรวจสอบว่าผู้ขอโอนย้ายเป็นผู้ใช้บริการเจ้าของเลขหมายจริงหรือไม่ และทำให้ผู้ใช้บริการได้ทราบถึงสิทธิของตนและไม่มีการโอนย้ายโดยหลงเข้าใจผิด นอกจากนี้ในกรณีที่เอกสารครบถ้วน ดีแทคก็จะรับการโอนย้ายเข้าและส่งสำเนาสัญญาการใช้บริการให้แก่ลูกค้ารายใหม่ได้อ่านตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช.กำหนด”

ดังนั้น หากผู้ประกอบการรายอื่นจะรับโอนย้ายลูกค้าจากเครือข่าย ดีแทค เข้าไปยังเครือข่ายของตน ผู้ให้บริการรายนั้นก็ต้องยึดถือกฎกติกาเดียวกันเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้ใช้บริการ กล่าวคือ ต้องมีการกรอกแบบฟอร์มคำร้องและมีการลงนามเพื่อยืนยันความเป็นเจ้าของบัตรประจำตัวประชาชน เอกสารและเลขหมายโทรศัพท์ ตามที่ระบุไว้ตามกฎของ กสทช. อย่างเคร่งครัด ซึ่งในกรณีที่ไม่มีแบบฟอร์มคำขอที่กรอกข้อมูลครบถ้วนหรือไม่มีการลงนาม หรือขาดเอกสารประกอบหรือเอกสารประกอบไม่มีการลงนามโดยผู้ขอโอนย้าย ผู้ให้บริการรายเดิมก็จะไม่สามารถแน่ใจได้ว่าผู้ขอโอนย้ายเป็นผู้ใช้บริการเจ้าของเลขหมายจริงหรือไม่และมีเจตนาที่จะโอนย้ายโดยทราบสิทธิของตนครบถ้วนหรือไม่ และก็จะไม่สามารถทำการโอนย้ายให้ได้จนกว่าเอกสารจะครบถ้วน ทั้งนี้ เพราะดีแทคต้องคุ้มครองผู้ใช้บริการด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้ก็มีกรณีปรากฏแล้วว่าผู้ใช้บริการหลายรายแจ้งว่าไม่เคยไปทำการขอโอนย้ายในร้านสะดวกซื้อตามที่ผู้ให้บริการรายใหม่กล่าวอ้าง บางรายก็ไม่ทราบว่า การรับเครื่องราคาพิเศษจากผู้ให้บริการรายหนึ่งในร้านสะดวกซื้อ เป็นการขอโอนย้ายเลขหมายออกจากดีแทค

“ดังนั้น ดีแทคจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ กสทช. ได้เน้นย้ำให้ผู้ให้บริการรายนั้นๆ ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์คุ้มครองผู้ใช้บริการดังกล่าว เพื่อป้องกันมิจฉาชีพมิให้ฉวยโอกาสจากช่องโหว่ระหว่างขั้นตอนการโอนย้ายหรือมีการหลอกลวงหรือโอนย้ายโดนผิดหลงหรือไม่ทราบสิทธิของตน ซึ่งที่ผ่านมาดีแทคได้รับแจ้งว่าการขอโอนย้ายเกือบทั้งหมดที่ทำผ่านร้านสะดวกซื้อ ไม่ได้ปฏิบัติตามประกาศหลักเกณฑ์ของ กสทช. กำหนดไว้ กล่าวคือไม่มีการให้ผู้ขอโอนย้ายลงนามและกรอกแบบคำขอ อีกทั้งไม่มีการให้ลงนามยืนยันว่าบัตรประจำตัวประชาชนหรือเอกสารที่นำมาใช้นั้นเป็นของตนหรือไม่ และสิ่งที่น่ากังวลใจมากที่สุด คือการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง อันมีผลต่อการตัดสินใจซื้อหรือโอนย้ายด้วยความเข้าใจผิดของผู้ใช้บริการ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาสำคัญที่กำลังคุกคามสิทธิของผู้ใช้บริการ อีกทั้งยังเป็นการแข่งขันที่ไม่เคารพกฎระเบียบภาครัฐที่คุ้มครองผู้ใช้บริการทั้ง 75 ล้านคนทั่วประเทศ” นายซิกวาร์ท กล่าว

จากสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วดีแทคเห็นว่า ทั้งผู้ให้บริการ ผู้ใช้บริการ หรือ ผู้บริโภค และที่สำคัญคือ กสทช. ซึ่งเป็นผู้กำหนดกฎระเบียบและควบคุมคุณภาพการให้บริการและสร้างสังคมผู้บริโภคบริการโทรคมนาคมที่ยั่งยืน รวมไปถึง หน่วยงานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคและภาคสังคม และกลุ่มผู้ที่ขับเคลื่อนส่งเสริมสิทธิผู้บริโภค ควรให้ความสำคัญกับเรื่องการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และเร่งออกมาตรการบังคับให้ผู้ประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามต้องแก้ไข เพื่อยกระดับมาตรฐานการให้บริการและสร้างบรรทัดฐานการแข่งขันให้ระบบ

ที่มา – อีเมลประชาสัมพันธ์


ส่งต่อเรื่องนี้ให้เพื่อน!