วิธีเสียภาษีรถยนต์ออนไลน์ ไม่ต้องเสียเวลาไปกรมขนส่ง อัพเดทล่าสุด ปี 2561

เคยเขียนบทความแนะนำไปครั้งนึงเมื่อ 2 ปีที่แล้ว พบว่าหน้าตาของเว็บกรมขนส่งฯ เปลี่ยนแปลงไป เลยมาขออัพเดทเวอร์ชั่นล่าสุดให้อีกครั้งครับ เผื่อจะเป็นประโยชน์สำหรับใครที่กำลังหาข้อมูลอยู่ เกี่ยวกับการต่อทะเบียนรถไม่ว่าจะรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ ที่โดยปกติแล้วจะต้องไปทำการเสียภาษีได้ที่กรมขนส่งของแต่ละท้องที่ หรือทำผ่านตัวแทนต่างๆ ซึ่งจะต้องไปติดต่อด้วยตนเอง โดยเฉพาะถ้าไปทำรายการเองที่กรมขนส่งแน่นอนว่าต้องเสียเวลา กว่าจะหาวันว่าง ไปจับบัตรคิว ต่างๆ นาๆ วันนี้ผมจึงจะมาแนะนำวิธีต่อทะเบียน/ต่อภาษีรถยนต์ด้วยตนเองแบบไม่ผ่านตัวแทนใดๆ อีกช่องทาง ที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าสามารถทำได้ด้วยนั่นก็คือการเสียผ่านทางระบบออนไลน์ของกรมขนส่ง

สำหรับประเภทของรถที่สามารถยื่นภาษีออนไลน์ได้ มีดังนี้

  • รถเก๋ง รถตู้ รถกระบะ และรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล
  • รถเก๋ง รถตู้ รถกระบะ จดทะเบียนไม่เกิน 7 ปี
  • รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล จดทะเบียนไม่เกิน 5 ปี
  • เป็นรถจดทะเบียนจังหวัดใดก็ได้
  • รถที่ค้างชำระภาษีไม่เกิน 1 ปี และชำระภาษีล่วงหน้าไม่เกิน 3 เดือน

เริ่มจากเข้าไปที่เว็บไซต์ชำระภาษีรถผ่านอินเทอร์เน็ตของกรมการขนส่งทางบก ที่ https://eservice.dlt.go.th/ จากนั้นถ้าใครยังไม่เคยลงทะเบียนเป็นสมาชิกให้ทำการลงทะเบียนก่อนนะครับ ใช้เวลาไม่นาน ซึ่งการลงทะเบียนจะใช้ข้อมูลทั่วไป อาทิ เลขประจำตัวประชาชน ชื่อ-ที่อยู่สำหรับการจัดส่งเอกสาร เป็นต้น …เมื่อสมัครเสร็จแล้วให้ทำการจดหรือจำรหัสผ่านเอาไว้ดีๆ ครับ

หลังจากนั้นแล้ว แนะนำให้เราไปกรอกรายละเอียดที่อยู่ปัจจุบันหรือที่อยู่สำหรับการจัดส่งเอกสารให้ถูกต้องและสมบูรณ์ก่อนครับ จากเมนูแก้ไขข้อมูลสมาชิก

เมื่อเรียบร้อยแล้ว ให้คลิกที่เมนู บริการ > ยื่นชำระภาษีรถประจำปี

จะเข้ามาในหน้าแสดงรายการรถในครอบครองของเรา ถ้าเข้ามาครั้งจะไม่มีรายการรถของเราในระบบให้ทำการ “ลงทะเบียนรถ” ก่อนครับ

เมื่อกรอกเสร็จเรียบร้อยแล้ว ถ้าถูกต้องจะมายังหน้าชำระภาษีทันที พร้อมรายละเอียดรถของเราที่จดทะเบียนไว้กับกรมขนส่ง โดยเราจะต้องกรอกรายละเอียดของ พรบ. ที่เราได้ทำกับบริษัทประกันไว้ลงในรายละเอียดเลขที่กรมธรรม์ด้วยครับ หมายความว่าก่อนที่จะมาเสียภาษีต้องทำการต่อพรบ. ให้เรียบร้อยก่อนครับ (แต่ถ้ายังไม่ต่อ พรบ. ทางกรมขนส่งก็อำนวยความสะดวกให้ทำ พรบ. ออนไลน์ได้ด้วยเลยครับ ให้ติ๊กที่ ไม่มี พรบ.)

จากนั้นเลือกรูปแบบการชำระเงิน ซึ่งสามารถเลือกได้ทั้งการหักผ่านบัญชีธนาคาร หรือผ่านบัตรเครดิต

 

เราสามารถติดตามผลการเสียภาษีรถได้ผ่านเมนู “ตรวจสอบผลการชำระภาษี” จะมีหน้าสถานะบอกว่าตอนนี้อยู่ในขั้นไหน พร้อมแจ้งหมายเลข EMS เมื่อมีการส่งเอกสารมาให้เราด้วย

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกท่านนะครับ


ส่งต่อเรื่องนี้ให้เพื่อน!