Covid-19 กระทบ E-commerce SEA ‘มาก’ หรือ ‘น้อย’ แค่ไหนในปี 2020!

เรียกได้ว่าเป็นวิกฤตการณ์ร้ายแรงระดับโลกที่ไม่เคยมีใครคาดคิดว่ามันจะเกิดขึ้นมาก่อน สำหรับการแพร่ระบาดของ Covid-19 หรือไวรัสโคโรน่า แรกเริ่มต้นปี 2020 ที่มีการแพร่ระบาดในจีนหลายประเทศก็ได้แต่เฝ้าภาวนาให้มันลดน้อยลง และจางหายไปเหมือนไวรัสร้ายแรงต่าง ๆ ที่เราต่างก็เคยรับมือกันมาได้ มิคาดว่า Covid-19 จะอยู่กับเรานานกว่าที่คิดล่วงมาถึงปีที่ 2 (2021) ส่งผลกระทบต่อหลายภาคธุรกิจออฟไลน์โดยเฉพาะการท่องเที่ยว และมีแนวโน้มว่าบางประเทศอาจต้องได้รับผลกระทบไปจนจบปีหากวัคซีนยังกระจายได้ไม่ทั่วถึง 

เมื่อมีธุรกิจที่ร่วง ก็ต้องมีธุรกิจที่รุ่งเป็นเรื่องธรรมดา ประกอบกับสภาวะที่หลายคนต้องทำงานที่บ้าน นักช้อปมีโอกาสถือถุงช้อปปิ้งน้อยลงเปลี่ยนมาเป็นคอยรับกล่องพัสดุที่ส่งมาถึงหน้าบ้านแทน บ่งบอกกลาย ๆ ว่าธุรกิจออนไลน์คือธุรกิจที่กำลังมาแรงในขณะนี้ และคาดว่าแม้โลกเราจะปราศจากโควิดแล้ว แต่ด้วยความเคยชินในการมีไลฟ์สไตล์แบบออนไลน์ก็อาจทำให้ยุค New Normal

หลังวิกฤติโควิดมีธุรกิจออนไลน์เป็นตัวขับเคลื่อนมากกว่าเดิม จึงเป็นเครื่องการันตีได้ดีว่าอุสาหกรรมอีคอมเมิร์ซใน 6 ตลาดยักษ์ใหญ่ ได้แก่ อินโดนีเซีย, สิงคโปร์, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม และไทย จะสามารถมีมูลค่ารวมกันแตะ 172 พันล้านดอลล่าห์สหรัฐได้ภายในปี 2025 ตามที่ Google, Temasek และ บริษัทเบน ได้คาดการณ์เอาไว้

ซึ่ง iPrice Group บริษัทวิจัยตลาดได้ร่วมมือกับ SimilarWeb และ Appsflyer จัดทำงานวิจัยเรื่อง Map of E-commerce Yearend Report 2020 ขึ้น โดยมีไฮไลท์ที่น่าสนใจ 3 ประเด็นหลักด้วยกัน ดังนี้

  • รายงาน 10 อันดับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีผู้เข้าชมเว็บไซต์มากที่สุด
  • รายงานอัตราการสั่งซื้อสินค้าอีคอมเมิร์ซโดยเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้นถึง 19%
  • รายงานผลการคาดคะเนปัจจัยที่ทำให้นักช้อปชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถอนการติดตั้งแอพพลิเคชั่นช้อปปิ้งเพิ่มขึ้น 2% ในไตรมาสที่ 2 2020

รายงาน 10 อันดับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีผู้เข้าชมเว็บไซต์มากที่สุด

แม้ดูเหมือนธุรกิจออนไลน์ต่าง ๆ รวมไปถึงอีคอมเมิร์ซจะไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิดโดยตรง แต่ก็ยังได้รับทางอ้อมซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากการขนส่งที่ล่าช้ากว่าปกติช่วงการแพร่ระบาด และกระทบอย่างมากกับสินค้าที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เรียกได้ว่างานนี้หากอีคอมเมิร์ซเจ้าไหนเตรียมแผนสำรองสำหรับการขนส่งไว้ล่วงหน้าที่ถึงแม้จะล่าช้ากว่าเดิมแต่ก็อยู่ในระดับที่ผู้สั่งซื้อยอมรับได้แล้วละก็ อีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มนั้นๆ ก็จะสามารถจับกลุ่มนักช้อปออนไลน์ได้อยู่หมัดเลยทีเดียวในช่วงนี้

จากข้อมูลพบว่า การเข้าใช้งานแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ ในแต่ละประเทศต่างก็มีเปอร์เซ็นเพิ่มขึ้นทั้งนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2019 โดยตลาดอีคอมเมิร์ซที่มีการเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 35% คือตลาดสิงคโปร์ ตามด้วยตลาดฟิลิปปินส์ 21%, ตลาดเวียดนาม 19%, ตลาดมาเลเซีย 17%, ตลาดไทย 15% และตลาดอินโดนีเซีย 6%

จากการจัดอันดับรายไตรมาสจะพบว่า อันดับ 1-5 ได้แก่ร้านค้ายักษ์ใหญ่ชื่อคุ้นหูอย่าง Shopee และ Lazada ที่มีต้นกำเนิดจากสิงคโปร์, Tokopedia และ Bukalapak จากอินโดนีเซีย ตามด้วย The Gioi Di Dong จากเวียดนาม ร้านค้าอีคอมเมิร์ซเหล่านี้คือ 5 อันดับร้านค้ารักษาตำแหน่งได้เหนียวแน่นตั้งแต่ปี 2019

ส่วนแพลตฟอร์มที่มีการเปลี่ยนอันดับเล็กน้อยในไตรมาสที่ 4 คือ Tiki จากเวียดนาม และ Blibli จากอินโดนีเซีย โดยจากที่ Tiki ครองอันดับที่ 6 และ Blibli ครองอันดับ 7 ของภูมิภาคตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 2020 แต่ในไตรมาสที่ 4 2020 Blibli สามารถก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 6 แทนที่ Tiki ได้

จากภาพรวมจะเห็นว่าตลาดอีคอมเมิร์ซที่มักจะมีชื่อติดอันดับ 1-10 ดูจะมีอยู่ด้วยกัน 3 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์, อินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งจากค่าเฉลี่ยจำนวนผู้เข้าชมสินค้าผ่านทางแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจะพบว่า แม้ Shopee และ Lazada จะครองอันดับที่ 1-2 อยู่เสมอ นั่นเป็นเพราะมีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซกระจายครอบคลุมถึง 6 ประเทศ ทำให้มีจำนวนเฉลี่ยผู้เข้าชมสินค้าโดยรวมสูงกว่าร้านค้าอีคอมเมิร์ซที่มีจำนวนแพลตฟอร์มกระจายอยู่น้อยกว่า ต่างจากตลาดอินโดนีเซีย (มีประชากรมากที่สุดทำให้จำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์สูงขึ้นตามไปด้วย) ที่เป็นต้นกำเนิดของ Tokopedia, Bukalapak และ Blibli สอดคล้องกับอีก 5 ร้านค้าอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ในเวียดนามอย่าง The Gioi Di Dong, Tiki, Sendo, Bach Hua Xanh และ FPT shop ที่ต่างก็เติบโตโดยมีเพียงหนึ่งแพลตฟอร์มในประเทศของตนเท่านั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศเวียดนามซึ่งมีร้านค้าติด 1-10 ถึง 5 ร้านค้าด้วยกันดูจะเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซที่กำลังเจริญเติบโตมากที่สุด

การเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซเวียดนามในระยะเวลา 3 ปี (2018-2020)

  • ปี 2018: ตลาดอีคอมเมิร์ซที่มีร้านค้าติดอันดับ 1-10 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียงลำดับจากมากไปหาน้อยคือ ตลาดอินโดนีเซี ย 4 ร้านค้า ได้แก่ Tokopedia, Bukalapk, Blibli และ JD ID ตามมาด้วยตลาดสิงคโปร์และเวียดนามซึ่งมีจำนวนร้านค้าติดอันดับเท่ากันที่ 3 ร้านค้า เริ่มจากสิงคโปร์ ได้แก่ Lazada, Shopee และ Qoo10 ส่วนร้านค้าที่ติดอันดับของตลาดเวียดนามจะได้แก่ Tiki, The Gioi Di Dong และ Sendo
  • ปี 2019: ดูเหมือนจะเป็นปีที่ตลาดเวียดนามกำลังมาแรงด้านธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เพราะมีร้านค้าติด 1-10 มากถึง 5 ร้านค้า ได้แก่ The Gioi Di Dong, Sendo, Tiki, Bach Hua Xanh และ FPT shop ตามมาด้วยตลาดอินโดนีเซีย ได้แก่ Tokopedia, Bukalapak และ Blibli รวม 3 ร้านค้า ปิดท้ายด้วยตลาดสิงคโปร์ที่มี Shopee และ Lazada เพียง 2 ร้านค้าเท่านั้น
  • ปี 2020: เป็นไปในทำนองเดียวกันกับปี 2019 ในแต่ละตลาดอีคอมเมิร์ซมีจำนวนร้านค้าติด 1-10 เท่ากัน ได้แก่ สิงคโปร์ 2 ร้านค้า, อินโดนีเซีย 3 ร้านค้า ซึ่งตลาดเวียดนามก็ยังคงครองแชมป์อยู่เช่นเดิมที่ 5 ร้านค้า

รายงานอัตราการสั่งซื้อสินค้าอีคอมเมิร์ซโดยเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้นถึง 19%

จากการศึกษาข้อมูลพบว่า ร้านค้าอีคอมเมิร์ซที่ได้รับความนิยมช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดคือร้านค้าอีคอมเมิร์ซทั่วไป ในขณะที่ร้านค้าแฟชั่น และอิเล็กทรอนิกส์มีจำนวนผู้เข้าชมสินค้าลดลง แม้สินค้าที่เลือกซื้อจากร้านค้าทั่วไปจะมีสินค้าประเภทแฟชั่น และอิเล็กทรอนิกส์รวมเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม อาจเพราะโปรโมชั่นจากร้านค้าทั่วไปดึงดูดใจให้ซื้อสินค้าหลากหลายประเภทพร้อม ๆ กันมากกว่า ซึ่งจากข้อมูลของ iPrice ที่รวบรวมจากแพลตฟอร์มใน 6 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย, สิงคโปร์, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม และไทย พบข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจ 2 ประเด็นด้วยกัน ดังนี้

  • อัตราการสั่งซื้อสินค้าในภูมิภาคเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยถึง 19% และจำนวนการใช้จ่ายโดยเฉลี่ยสูงถึง $32 ต่อการสั่งซื้อ โดยตลาดอีคอมเมิร์ซที่มีอัตราการใช้จ่ายสูงสุดคือ สิงคโปร์ $62, Malaysia $41, ไทย $29, ฟิลิปปินส์ $23, อินโดนีเซีย $21 และเวียดนาม $17 ตามลำดับจากมากไปหาน้อย
  • แฟชั่น คือหมวดหมู่สินค้าที่มีอัตราการสั่งซื้อมากที่สุดโดยเฉลี่ย $46 ตามด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ $41 และสินค้าอุปกรณ์กีฬาและเพื่อการออกกำลังกาย $33 พร้อมยังสามารถแบ่งหมวดหมู่สินค้าที่ได้รับความนิยมในแต่ละประเทศได้ดังนี้
    • หมวดหมู่สินค้าแฟชั่น: มีจำนวนการสั่งซื้อสูงสุดในตลาดมาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์
    • หมวดหมู่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์: มีจำนวนการสั่งซื้อสูงสุดในตลาดไทย และเวียดนาม
    • หมวดหมู่สินค้าอุปกรณ์กีฬาและเพื่อการออกกำลังกาย: มีจำนวนการสั่งซื้อสูงสุดในตลาดอินโดนีเซียเท่านั้น

นอกเหนือจาก 6 ตลาดอีคอมเมิร์ซที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ตลาดฮ่องกงยังมีข้อมูลที่สอดคล้องกัน โดยจากการเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างไตรมาสที่ 2-4 พบว่า ช่วงไตรมาสที่ 2 (การแพร่ระบาดสูงสุด) จำนวนผู้เข้าชมสินค้าผ่านทางร้านค้าอีคอมเมิร์ซสายแฟชั่นมีจำนวนลดลงอย่างน่าใจหาย คาดเพราะรัฐบาลประกาศให้ทำงานที่บ้านช่วงไตรมาสที่ 2 และพนักงานเริ่มทยอยกลับไปทำงานที่ออฟฟิศช่วงไตรมาสที่ 3 นั่นเอง

รายงานผลการคาดคะเนปัจจัยที่ทำให้นักช้อปชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถอนการติดตั้งแอพพลิเคชั่นช้อปปิ้งมากที่สุด

เพราะอัตราการใช้งานสมาร์ทโฟนเพิ่มมากขึ้นทำให้ร้านค้าอีคอมเมิร์ซส่วนใหญ่ต่างก็สร้างแอพพลิเคชั่นรองรับความต้องการของเหล่านักช้อปเพื่อง่ายต่อการจับจ่ายใช่สอยได้ทุกที่ทุกเวลา ด้วยเหตุนี้ iPrice จึงร่วมมือกับ Appsflyer ผู้นำด้านแพลตฟอร์มการวัดผลโฆษณาและการวิเคราะห์การตลาดบนมือถือ เผยข้อมูลอัตราถอนการติดตั้งของแอพพลิเคชั่นหมวดหมู่ช้อปปิ้งใน 5 ประเทศตลาดอีคอมเมิร์ซชั้นนำ (เฉพาะระบบปฎิบัติการ Android) ได้แก่ อินโดนีเซีย, สิงคโปร์, มาเลเซีย, เวียดนาม และไทย โดยเปรียบเทียบระหว่างไตรมาสที่ 1 และ 2 ปี 2020 (ช่วงที่มีการแพร่ระบาดมากที่สุด) พบว่า อัตราถอนการติดตั้งแอพพลิเคชั่นในไตรมาสที่ 2 เพิ่มมากขึ้นโดยเฉลี่ย 42.2% ต่างจากไตรมาสแรกที่มีเฉลี่ย 37.4% โดยมีข้อมูลในแต่ประเทศดังนี้

  • สิงคโปร์ เป็นตลาดอีคอมเมิร์ซที่มีอัตราถอนการติดตั้งในไตรมาสที่ 2 สูงที่สุดถึง 37% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก 9%
  • รองลงมาคือตลาดมาเลเซีย ซึ่งมีอัตราถอนการติดตั้งสูงถึง 41% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก 8%
  • ตามมาด้วยตลาดอินโดนีเซีย ที่มีอัตราถอนการติดตั้งอยู่ที่ 47% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกที่ 5%
  • สุดท้ายคือตลาดไทย และเวียดนาม ซึ่งมีอัตราถอนการติดตั้งที่ต่างจากไตรมาสแรกเพียง 1% โดยไทยเพิ่มจาก 36% เป็น 37% และเวียดนาม 48% เป็น 49%

คาดอัตราถอนการติดตั้งที่เพิ่มขึ้นนี้เกิดจากทั้ง 5 ประเทศต่างก็อยู่ภายใต้การปิดเมือง (Lockdown) หรือปิดเมืองบางส่วน (Partial Lockdown) ทำให้ส่วนใหญ่ต้องทำงานที่บ้าน และออกไปจับจ่ายใช้สอยได้เพียงในซุปเปอร์มาร์เก็ตเท่านั้น แอพพลิเคชั่นซื้อของออนไลน์จึงก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญ และส่วนใหญ่โปรโมชั่นสุดคุ้มมักจะนำเสนอให้กับสมาชิกใหม่เท่านั้น นำไปสู่สาเหตุอัตราเพิ่มขึ้นของการถอนการติดตั้ง เพื่อลงทะเบียนในชื่อผู้ใช้ใหม่

ในอีกกรณีหนึ่งคือ ช่วงทำงานที่บ้าน ผู้คนส่วนใหญ่ต่างก็ค้นหาแอพพลิเคชั่นจำพวกเกม, แต่งรูป และอื่น ๆ อีกมากมายมาติดตั้ง ทำให้หน่วยความจำในตัวเครื่องสมาร์ทโฟนลดน้อยลง นำไปสู่การทยอยลบแอพพลิเคชั่นที่ไม่ค่อยได้ใช้งานออก สำหรับแอพพลิเคชั่นช้อปปิ้งผู้คนส่วนใหญ่มักไม่ติดตั้งเกิน 1-3 แอพเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

เก็บข้อมูล เขียน และวิเคราะห์โดย

ขนิษฐา สาสะกุล

(Content Marketing Lead Thailand)

ส่งต่อเรื่องนี้ให้เพื่อน!
TANA:
Related Post