อยู่ๆ Windows 10 ช้า/ค้าง ? สาเหตุเพราะ…มันอาจกำลังอัพเดทตัวเองอยู่เบื้องหลัง

คนที่ใช้ Windows 10 หลายคนอาจจะเคยเจอปัญหาอยู่ๆ เปิดเครื่องขึ้นมาทำงานพีซีที่ใช้อยู่ก็เกิดอาการช้า/กระตุกไปดื้อๆ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็ใช้งานได้เร็วปกติ ?

จริงๆ แล้วสาเหตุการ “ช้า” ของระบบปฏิบัติการ Windows 10 อาจมาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการติดไวรัส มัลแวร์ หรือโปรแกรมที่ไม่พึงประสงค์ทำงานอยู่เบื้องหลัง ตลอดจนโปรแกรมต่างๆ ที่เราติดตั้งเข้าไปเพิ่มแล้วเปิดตัวเองขึ้นมาตั้งแต่ก่อน start up

สำหรับคนที่มั่นใจจริงๆ ว่าเครื่องของเราก่อนหน้านี้ก็ทำงานได้ปกติ ไม่ได้ติดไวรัสหรือมัลแวร์แน่ๆ สาเหตุที่ทำให้ Windows 10 อยู่ๆ ก็ช้าลงอาจเป็นเพราะ “Windows Update” หรือกลไกการอัพเดทตัวระบบปฏิบัติการของ Windows เองนั่นแหล่ะครับ เพราะตั้งแต่ Windows 10 เป็นต้นมาจะมีฟีเจอร์อัพเดทตัวเองโดยอัตโนมัติมาให้ตั้งแต่ต้น ถึงแม้จะปิดการทำงานผ่าน Windows Update Settings ไปแล้วการอัพเดทบางรายการ (เช่น รายการที่ร้ายแรง) ก็ยังคงทำการอัพเดทตัวเองได้

วันนี้ผมจึงมาเสนอวิธีแก้ปัญหาอาการ “ช้า” ของ Windows 10 ขณะที่กำลังมีการอัพเดทมาแนะนำครับ

1. ตั้งค่าการอัพเดทให้ถูกต้อง

นอกจากขณะการอัพเดทจะทำให้เครื่องช้าแล้ว บางครั้งหลังจากทำการติดตั้งตัวอัพเดทแล้ว Windows 10 อาจรีบูทตัวเองอัตโนมัติด้วย หากใครที่ทำงานอยู่แล้วเจอเหตุการณ์นี้คงหัวเสียไม่น้อย แต่จริงๆ แล้วไมโครซอฟท์ยังสร้างตัวเลือกมาให้เรากำหนด Active hours หรือเวลาที่เราต้องการใช้เครื่องทำงาน (ไม่ต้องการให้ Windows Update มารบกวน) ได้ด้วยครับ …ดูวิธีการตั้งค่าเพิ่มเติมได้ที่ >> วิธีตั้งค่าไม่ให้ Windows 10 restart เอง หลังอัพเดท

2. ปล่อยให้มันอัพเดทให้เสร็จสิ้น

วิธีนี้ก็ตรงไปตรงมาครับ ในเมื่อมันช้าเพราะกำลังอัพเดท ดังนั้นควรปล่อยให้มันอัพเดทไปซะให้เสร็จสิ้นในช่วงที่เราไม่ได้กำลังทำงานสำคัญอยู่ วิธีการก็คือเข้าไปที่หน้า Windows Update โดยการคลิกที่ปุ่ม Start แล้วพิมพ์ว่า Windows Update จะมีรายการ Windows Update settings ขึ้นมา กดเข้าไปครับ จากนั้นก็สั่งให้มันทำการหาตัวอัพเดทและทำการดาวน์โหลดไฟล์อัพเดทจากอินเทอร์เน็ตจนเสร็จกระบวนการครับ (ถ้าเป็นการอัพเดทใหญ่ๆ อาจกินเวลานานเป็นชั่วโมง)

3. ปิดระบบ Update แบบเด็ดขาด (ไม่แนะนำให้ทำถาวร)

วิธีนี้ขอให้เป็นขั้นสุดท้าย สำหรับคนที่ต้องการปิด Windows Update ใน Windows 10 แบบเด็ดขาดหรือพูดง่ายๆ ว่า disable มันไปเลยนั่นเอง ซึ่งหมายความว่าระบบอัพเดทที่ทำงานอยู่เบื้องหลังจากหยุดทำงานไปทันที (อ่านต่อ :  วิธีตั้งค่าปิดอัพเดท Windows 10 แบบเด็ดขาด )

แต่ก็จะมีความเสี่ยงว่าหากเราไม่ได้อัพเดท Windows ให้ทันสมัย หากมีการพบช่องโหว่หรือการแพร่ระบาดของมัลแวร์ขึ้นมาเครื่องของเราก็จะตกอยู่ในความเสี่ยงนั่นเองครับ ฉะนั้นการปิดแบบถาวรนี้ควรปิดเปิดช่วงสั้นๆ สำหรับใช้ขณะทำงานสำคัญ (ที่ไม่ต้องการให้ Windows Update รบกวน) เท่านั้น หากทำงานเสร็จควรกลับไปเปิด (enable) แล้วกลับไปอัพเดทให้ทันสมัยตามในข้อ 2 ครับ

ส่งต่อเรื่องนี้ให้เพื่อน!
TANA:
Related Post