การจดทะเบียนสมรสในไทยลดลงกว่า 17% ใน 1 ปี นับจาก COVID-19 มาเยือน

อย่างที่ทราบกันดีว่าวันวาเลนไทน์ คือ วันแห่งความรัก คู่รักมากมายจึงถือโอกาสแสดงความรัก ความโรแมนติก รวมไปถึงการทำกิจกรรมอย่างอื่นร่วมกัน เช่น ท่องเที่ยว, รับประทานอาหาร, ทำบุญ และกิจกรรมยอดฮิตสำหรับคู่รักข้าวใหม่ปลามันก็คือ การแต่งงาน หรือจดทะเบียนสมรส ณ วันวาเลนไทน์

นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลให้ตัวเลขการจดทะเบียนสมรสลดลง แต่ไม่ใช่เพียงประเทศไทยเท่านั้น ยังร่วมไปถึงจำนวนการจดทะเบียนสมรสในหลาย ๆ ประเทศ ซึ่ง iPrice Group ได้หยิบยกเอาข้อมูลเชิงลึกของ 5 ประเทศหลักในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย และไทย มานำเสนอ โดยอ้างอิงจากเว็บไซต์ข้อมูลกรมการปกครองของรัฐบาลในแต่ละประเทศ และเก็บข้อมูลความสนใจในการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการแต่งงานจาก Google Keyword Planner ซึ่งพบไฮไลท์ที่น่าสนใจดังนี้

คู่รักชาวไทยจดทะเบียนสมรสน้อยลง 17% เป็นอันดับที่ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อันดับที่หนึ่งคือคู่รักชาวฟิลิปปินส์ซึ่งมีการจดทะเบียนสมรสลดลงมากสุดถึง 44% ตามมาด้วยไทย 17% สิงคโปร์ 11% ปิดท้ายด้วยมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่มีจำนวนลดลงเท่ากันคือ 9% โดยทั้งหมดเป็นข้อมูลล่าสุดเมื่อปี 2020 คาดเกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสทำให้ต้องปิดเมือง กระทบให้จำนวนการจัดงานอีเวนท์ต่าง ๆ รวมไปถึงงานแต่งงานลดลงตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อคำนวนจากอัตราส่วนของการจดทะเบียนสมรสในภูมิภาค SEA จะพบว่า ประเทศไทยมีอัตราการจดทะเบียนสมรสคงที่คือ 11% ทั้งปี 2019 และปี 2020 คล้ายคลึงกับประเทศมาเลเซีย (7%) และสิงคโปร์ (1%) ไฮไลท์ที่น่าสนใจคือคู่รักชาวอินโดนีเซียที่ถึงแม้ในปี 2020 จำนวนการจดทะเบียนสมรสจะลดลงเช่นกัน แต่อัตราส่วนในภูมิภาคก็ยังคงมากกว่าประเทศอื่น โดยปี 2019 ชาวอินโดฯมีอัตราการจดทะเบียนสมรสที่ 67% แต่ปี 2020 กับมีถึง 71% ต่างจากชาวฟิลิปปินส์ที่ปี 2019 อัตราการจดทะเบียนสมรสคือ 15% แต่ปี 2020 กับลดลงเหลือ 10%

การศึกษาข้อมูล

จำนวนการจดทะเบียนสมรสในแต่ละปีนำมาจากเว็บไซต์ของรัฐบาลในแต่ละประเทศ อาทิ psa.gov.ph (ฟิลิปปินส์), dosm.gov.my (มาเลเซีย), databoks.katadata.co.id (อินโดนีเซีย), stat.bora.dopa.go th (ประเทศไทย) และ singstat.gov.sg (สิงคโปร์)

คนไทย (ชาวกรุงเทพฯ) ต้องออมเงินเดือน 100% กว่า 12 เดือนเพื่อให้ได้ค่าใช้จ่ายงานแต่งช่วงเช้า

จากบทความเรื่อง ‘คู่มือค่าใช้จ่ายงานแต่งงานตอนเช้า’ ของเว็บไซต์ MoneyBuffalo พบว่า ค่าใช้จ่ายดังกล่าวมีมูลค่าถึง 272,000 บาท และเมื่อนำข้อมูลเงินเดือนของคนไทย (ชาวกรุงเทพฯ) โดยเฉลี่ยคือ 22,690 บาท จากเว็บไซต์ Numbeo.com มาคำนวนจะพบว่า คนไทยต้องออมเงินเดือน 100% (หรือทุกเดือน) นานกว่า 12 เดือน เพื่อให้ได้ค่าใช้จ่ายงานแต่งงานตอนเช้า

และเมื่อวิเคราะห์ข้อมูลจากบทความดังกล่าว พบว่า ‘ค่าแต่งหน้างานแต่ง’ จากช่างที่มีชื่อเสียงปานกลาง และ ‘ค่าช่างภาพ’ พร้อมทีมงาน 3 คนแบบมืออาชีพ มีราคาสูงถึง 25,000 บาท หรือสูงกว่าค่าเฉลี่ยเงินเดือนของชาวไทยซะอีก อาจเป็นไปได้ว่าเพราะค่าใช้จ่ายงานแต่งที่สูงจนผู้คนยุคโควิดเลือกที่จะออมเงินส่วนนี้ไว้ใช้ยามฉุกเฉินส่งผลกระทบกับจำนวนการจดทะเบียนสมรสที่ลดลง

‘แหวนแต่งงาน’ คำค้นหาที่ได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อย ๆ แม้จำนวนการจดทะเบียนสมรสจะลดลง

ดูเหมือนแหวนแต่งงาน จะเป็นไอเท็มที่คู่รักให้สนใจมากที่สุดแม้จำนวนการจดทะเบียนสมรสจะลดลง แต่เมื่อนำคำค้นหายอดนิยมเกี่ยวกับการแต่งงาน อาทิ แหวนแต่งงาน, แหวนหมั้น, ชุดแต่งงาน, สถานที่จัดงานแต่งงาน และสถานที่ฮันนีมูนมาวิเคราะห์จะพบว่า ‘สถานที่ฮันนีมูน’ คือคำค้นหาที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากที่สุดกว่า 175% เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลค้นหาในปี 2019 – 2021 คาดแม้วิกฤต COVID-19 จะทำให้งานอีเวนท์ และงานแต่งงานต้องล้มเลิก แต่คู่รักก็ยังพยายามสร้างความโรแมนติกต่อกันด้วยการหาสถานที่หวาน ๆ เพื่อเติมเต็มความทรงจำดี ๆ ให้กันและกันได้

ส่วนการค้นหาคำว่า ‘แหวนแต่งงาน’ ก็เพิ่มขึ้นถึง 105% ซึ่งผิดคลาด เพราะแทนที่จะลดลงเนื่องจากไม่สามารถจัดงานแต่งได้ แต่อาจเป็นเพราะคู่รักยังคงคิดถึงของแทนใจเพื่อกันและกัน ซึ่งแหวนแต่งงานถือเป็นไอเท็มสื่อรักชั้นดีตลอดกาลนั่นเอง หรืออีกมุมมองหนึ่งคือ ปัจจุบันแหวนแต่งงานถูกออกแบบมาให้ตามแฟชั่นมากขึ้น เช่น แบรนด์ยอดนิยมอย่าง Cartier ที่ออกแบบเครื่องประดับอินเทรนด์มากมาย บางคอลเล็กชั่นอาจนำมาสวมใส่เป็นแหวนแต่งงานได้ และด้วยการดีไซน์หรูหราทันสมัย อาจทำให้ผู้หญิงหลายคนค้นหาเพื่อนำมาใส่เป็นเครื่องประดับแฟชั่นก็เป็นได้

การศึกษาข้อมูล

iPrice Group เก็บข้อมูลจาก Google Keyword Planner โดยใช้คำค้นหาดังนี้ แหวนแต่งงาน, แหวนหมั้น, ชุดแต่งงาน, สถานที่จัดงานแต่งงาน และสถานที่ฮันนีมูน โดยเก็บข้อมูลตั้งแต่มกราคม .. 2019 – ธันวาคม .. 2021

เก็บข้อมูลโดย อัดนาน ปูตีลา

เขียน และวิเคราะห์โดย ขนิษฐา สาสะกุล


ส่งต่อเรื่องนี้ให้เพื่อน!