Super FUP คืออะไร? โดนแล้วทำไมถึงเล่นเน็ตได้ช้าลง?

เคยไหมครับ เล่นเน็ตมือถือไปเรื่อยๆ ทำไมมันยิ่งช้าลง ? หลายคนก็พอจะนึกออกว่าน่าจะติด FUP แน่เลย แต่ก็ยังมีบางคนรู้สึกไปอีกว่าทำไมมันยังช้าลงได้อีก !!! …ถ้าเจอเหตุการณ์นี้สันนิษฐานได้เลยครับ ว่าคุณโดน Super FUP เข้าให้แล้ว !

ทำความรู้จัก FUP กันก่อน

ก่อนจะไปรู้จักกับ Super FUP เรามาทวนความเข้าใจกันก่อนว่า FUP ที่หลายคนเรียกติดปากกัน มันคืออะไร… FUP คือคำย่อ ที่มาจากคำเต็มว่า Fair Usage Policy เป็นกฏที่บรรดาผู้ให้บริการเครือข่ายออกมาเพื่อบริหารจัดการปริมาณการรับส่งข้อมูลของผู้ใช้ ไม่ให้แต่ละคนใช้กันเยอะมากจนกระทบต่อระบบโดยรวมและการใช้งานของผู้ใช้รายอื่นๆ

ยกตัวอย่างเช่น การใช้อินเทอร์เน็ตผ่าน 4G ในปัจจุบันสามารถทำความเร็วได้สูงเกิน 100Mbps หากผู้ใช้ทุกคนอย่างน้อยสักครึ่งนึงของระบบ (เช่น บางคนเปิดวีดิโอจาก Youtube ตลอดเวลา หรือแชร์ WiFi ให้คอมพิวเตอร์โหลดบิตตลอดทั้งวัน) ด้วยความเร็วระดับ 100Mbps ได้ทุกคนอาจทำให้ช่องสัญญาณของเครือข่ายเต็ม ส่งผลให้ลูกค้ารายอื่นๆ ไม่สามารถใช้งานได้

ด้วยเหตุนี้ผู้ให้บริการจึงต้องสร้างกำแพงบางอย่างขึ้นมา เพื่อจำกัดให้ผู้ใช้แต่ละคนไม่สามารถใช้งานด้วยความเร็วสูงสุดได้ตลอดเวลา กำแพงที่ว่านี้ก็คือ ปริมาณการใช้ data ในแพ็กเกจของเรานั่นเอง หมายความว่า ใครอยากใช้เยอะ ก็ต้องจ่ายแพ็กเกจแพงๆ นั่นเอง เช่น แพ็กเกจ 299 บาท ใช้ data (ปริมาณอินเทอร์เน็ต) ด้วยความเร็วสูงสุดได้ปริมาณ 1GB หลังจากเราใช้ครบจำนวน 1GB แล้ว เราก็ยังสามารถเน็ตต่อด้วยความเร็ว 128Kpbs ต่อไป เป็นต้น

นี่คือนิยามคร่าวๆ ของ FUP ครับ

เหนือ FUP ยังมี Super FUP !

รู้จัก FUP กันไปแล้ว ไฮไลท์ที่ผมจะมานำเสนอในตอนนี้จริงๆ ก็คือ Super FUP ซึ่งจะให้อธิบายแบบสั้นๆ มันก็คือ FUP ของ FUP นั่นเอง กล่าวคือ ถึงแม้เราจะติด FUP แล้ว หากเรายังคงมีปริมาณการใช้งานที่สูงขึ้น ทางเครือข่ายก็จะปรับความเร็วอินเทอร์เน็ตของเราลดลงอีกระดับ

เช่น เดิมทีแพ็กเกจเราสามารถใช้งานด้วยความเร็วสูงสุดได้ 1GB หลังจากนี้เราจะติด FUP และใช้งานได้ต่อที่ความเร็ว 128Kbps แต่ถ้าเรายังคงใช้ data ในปริมาณที่สูงระดับหนึ่ง (เดี๋ยวผมจะบอกในข้อต่อไปว่าสูงเท่าไร) เราก็จะโดนลดความเร็วลงมาเหลือที่ 32Kbps เป็นต้น #จะเล่นอะไรได้เนี้ย

ค่ายไหนในไทยมี Super FUP บ้าง ?

สิ่งที่ค่ายมือถือแต่ละค่ายบอกในรายละเอียดแพ็กเกจที่เราสมัคร ร้อยทั้งร้อยจะบอกเพียงแค่ว่าเราจะติด FUP ด้วยความเร็วเท่าไร เมื่อใช้ครบปริมาณที่กำหนดแล้ว ไม่เคยมีค่ายใดที่ระบุถึงความเร็วในการติด Super FUP ลงในรายละเอียดแพ็กเกจเลย เว้นเสียแต่ว่าจะได้ข้อมูลมากจากแหล่งอื่นๆ ซึ่งผมไปรวบรวมมาได้ดังนี้ครับ

dtac ยอมรับ 100% ว่า Super FUP มีอยู่จริง

ทุกๆ กระทู้ใน Pantip ที่พูดถึง Super FUP ของ dtac ของคอนเซ็นเตอร์ของ dtac ([email protected]) จะออกมายืนยันว่าทาง dtac มี Super FUP จริงๆ โดยมีหลักคิดดังนี้

  • ลูกค้ารายเดือน หลักจากใช้งานครบตามที่ระบุในแต่ละแพ็กเกจแล้ว จะสามารถใช้ความเร็วที่ระบุตามแพ็กเกจได้อีก 25GB (ความเร็ว FUP) หลังจากนั้นจะสามารถใช้งานต่อได้ที่ความเร็ว 32Kbps (ความเร็ว Super FUP)
  • ลูกค้าเติมเงิน หลักจากใช้งานครบตามที่ระบุในแต่ละแพ็กเกจแล้ว จะสามารถใช้ความเร็วที่ระบุตามแพ็กเกจได้อีก 15GB (ความเร็ว FUP) หลังจากนั้นจะสามารถใช้งานต่อได้ที่ความเร็ว 32Kbps (ความเร็ว Super FUP)

True ไม่เรียกว่า Super FUP แต่มีนโยบายที่ใกล้เคียงกันกับ dtac

สำหรับคอลเซ็นเตอร์ของ True ถึงแม้ไม่ออกมายอมรับตรงๆ ว่ามี Super FUP เหมือน dtac แต่ก็มีแนวปฏิบัติว่า หากผู้ใช้รายใดใช้งานอินเทอร์เน็ตค่อนข้างเยอะ ลักษณะการใช้งานดาวน์โหลดข้อมูลเป็นจำนวนมาก และโหลดอย่างต่อเนื่อง เช่น โหลดบิท หรือ ดู Youtube ซึ่งเป็นการจองช่องสัญญาณเป็นเวลานาน ทำให้ผู้ใช้บริการรายอื่น ไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงทำให้ถูกปรับลดความเร็วลงตามลำดับ (เป็นความหมายเดียวกับ Super FUP)

เมื่อทาง True ไม่ได้ออกมาบอกตรงๆ และขอสงวนสิทธิ์การให้ข้อมูล แต่ผมก็พยายามรวบรวมข้อมูลจากผู้ใช้หลายคนใน Pantip พบว่าผู้ใช้ True จะรู้สึกว่าติด Super FUP เมื่อใช้งาน FUP ไปแล้ว 10GB ของรอบบิล

AIS ยังไม่มีเบาะแสที่แน่ชัด แต่หลายคนก็เชื่อว่ามี

จากที่ผมได้ค้นข้อมูลมาในเรื่องนี้ทางคอลเซ็นเตอร์ของ AIS ไม่เคยออกมาชี้แจงใดๆ มีแต่เพียงผู้ใช้บางส่วนที่ออกมาแจ้งข่าว (จำนวนน้อยกว่า dtac/True) ว่า AIS ก็มี Super FUP

ค่ายอื่นๆ

ดูข้อมูลของสามค่ายใหญ่ไปแล้ว ค่ายอื่นๆ อย่าง my และ TOT มีเบาะแสน้อยมากครับ แต่ก็มี user ท่านหนึ่งที่เป็นลูกค้า my ออกมาบอกว่าใช้ไป 40GB ต่อเดือน ยังไม่เจอ Super FUP แต่อย่างใด

เจอ Super FUP แล้วต้องทำอย่างไร? มีวิธีแก้ไหม ?

เช่นเดียวกับ FUP นะครับ หากเรารู้สึกว่าติด Super FUP แล้วเราก็ไม่สามารถทำอะไรได้ นอกจาก ซื้อแพ็กเกจเสริม เพื่อเพิ่มความเร็วต่อไป หรือเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับมัน จนกว่าจะถึงรอบบิลใหม่ 😂

ที่มา – เบาะแสจากผู้ใช้และคอลเซ็นเตอร์ของเครือข่ายต่างๆ ใน Pantip (1, 2, 3, 4, 5, 6)


ส่งต่อเรื่องนี้ให้เพื่อน!