วาระสุดท้ายของ Google Reader, เตรียมสำรองข้อมูลและย้ายไปอยู่บ้านใหม่กัน !!

สำหรับคนที่ใช้ Google Reader เป็นประจำ น่าจะรู้กันดีว่าในวันพรุ่งนี้ หรือวันที่ 1 กรกฏาคม 2556 ทางกูเกิลจะปิดให้บริการดังกล่าว (อ่านข่าวเดิม) โดยอ้างว่าเป็นบริการที่มีผู้ใช้น้อยและอาจล้าสมัยไปแล้ว แต่ก็ส่งกระทบกับผู้ใช้ในปัจจุบัน (รวมถึงตัวผมเองด้วย) วันนี้ผมจึงอยากออกมารำลึกถึง Google Reader เป็นวาระสุดท้าย พร้อมกับแนะนำวิธีการสำรองข้อมูลจากใน Google Reader ออกมาเก็บไว้ในเครื่องเรา เพื่อเตรียมย้ายบ้านไปใช้บริการที่อื่นกันต่อไป

การสำรองข้อมูลออกมาจาก Google Reader ก็ไม่ยากครับ ซึ่งจะใช้เครื่องมือของกูเกิลที่ชื่อว่า Google Takeout โดยสามารถเข้าไปทำการดาวน์โหลดข้อมูลของ Google Reader ได้ผ่านลิงก์นี้ >> https://www.google.com/takeout/#custom:reader

ทำตามขั้นตอนมาเรื่อยๆ ก็จะพบกับหน้าดาวน์โหลดข้อมูล

เมื่อดาวน์โหลดไฟล์มาในเครื่องเราแล้ว จะเห็นไฟล์ที่สำคัญไฟล์หนึ่ง นั่นคือ subscriptions.xml หรือไฟล์ข้อมูลเว็บฟีดต่างๆ ที่เราติดตามนั่นเอง ซึ่งเราสามารถนำไฟล์นี้ Import เข้าไปยังบริการอื่นๆ ได้ทันที โดยไม่ต้องนั่งแอดหรือสร้างโฟลเดอร์เองใหม่

Google Reader ปิดแล้ว, ย้ายไปใช้ที่ไหนต่อดี ?

คำถามนี้ผมเคยแนะนำคำตอบไปครั้งนึงแล้วครับ ซึ่งคราวนั้นผมตอบไปแบบรวมๆ หลายเว็บให้หลายคนไปตัดสินใจกันเอง (รวมถึงผมด้วย) และวันนี้จากการที่ผมได้ทดสอบและลองใช้งานบริการอ่านฟีดจากที่อื่น ก็ขอมาสรุปและแนะนำบ้านใหม่สำหรับคนอ่านฟีดทุกท่านครับ โดยคัดมาแล้วเหลือเพียง 3 ที่เท่านั้น ดังนี้ครับ

1. Digg Reader

สำหรับ Digg Reader ถึงแม้จะเพิ่งเปิดตัวไปหมาดๆ แต่ดูเหมือนว่าจะเป็นตัวเลือกที่กำลังเนื้อหอมไม่น้อยเลยที่เดียวครับ อาจจะเป็นเพราะทีมงานของ Digg เคยมีชื่อเสียงจากผลงานเก่ามาก่อน ทำให้หลายคนรวมถึงผมคาดหวังกับ Digg Reader ไว้สูง ซึ่งหลังจากที่เปิดตัว Beta ออกมาก็พบว่าอยู่ในระดับดีเยี่ยมเลยทีเดียวครับ แถมยังปล่อยแอพสำหรับ iOS ออกมาแล้วด้วย (Android จะตามมาในเร็วๆ นี้)

URL: http://digg.com/reader

2. AOL Reader

AOL Reader เป็นผู้เล่นรายใหม่อีกราย ที่มาแบบเงียบๆ และชิงเปิดตัวก่อน Digg Reader เพียงไม่กี่วัน ซึ่งผมก็ได้รีวิวการใช้งาน AOL Reader แบบคร่าวๆ ไปแล้ว และได้ผลออกมาเป็นที่น่าพอใจมาก (คลิกอ่าน) ทั้งในแง่ฟีเจอร์ที่มีมาให้ครบเหมือน Google Reader, รองรับการใช้งานบนอุปกรณ์พกพา (Web) ส่วนตัวแอพจริงๆ คาดว่าจะตามมาภายหลัง แถมยังมีการเปิด API ให้นักพัฒนาภายนอกทำการสร้างแอพเข้ามาเชื่อมต่อกับ AOL Reader ได้อีกด้วย

URL: http://reader.aol.com

3. Feedly

เว็บสุดท้ายที่ผมจะมาแนะนำคือ Feedly ครับ เป็นเจ้าที่ดูมีภาษีและประสบการณ์ด้านนี้มากกว่าเจ้าไหน เพราะให้บริการมาตั้งแต่ Google Reader ยังไม่ประกาศปิดตัว ทำให้ตอนนี้ดูเหมือน Feedly จะมีความพร้อมในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นหน้าเว็บหรือแอพบนมือถือที่มีครอบคลุมทั้ง iOS และ Android ตลอดจนแอพอื่นๆ ที่สามารถเชื่อมต่อและทำงานร่วมกับ Feedly ได้หลายแอพแล้ว

URL: http://www.feedly.com

ส่วนตัวผม ขอเลือกไปที่ Digg Reader ครับ !!!

ปล. รู้สึกใจหายจริงๆ ครับ ที่ต่อไปนี้จะไม่ได้เข้า Google Reader อีกแล้ว T^T


ส่งต่อเรื่องนี้ให้เพื่อน!