บทสรุปหลังจบการประมูลคลื่น 900MHz : อุบัติการณ์แห่งพลัง 4G

คำเตือน : บทความนี้มีการอรับปรุงข้อมูลใหม่ เพื่อให้ถูกต้องตามเหตุการณ์จริงที่เปลี่ยนไป

เรียกว่าเสร็จสิ้นกันไปแล้วครับ สำหรับการประมูลคลื่นความที่ 900MHz ที่จัดโดย กสทช. ซึ่งการประมูลครั้งนี้ได้สร้างสถิติและความตื่นเต้นต่างๆ ให้กับวงการโทรคมนาคมของประเทศไทยเราไม่น้อยเลยครับ ไล่ไปตั้งแต่ช่วงก่อนประมูล ที่มีข่าวไม่ค่อยดีว่าจะมีการฟ้องศาลปกครองเพื่อล้มการประมูล แต่แล้วก็เกิดประมูลจนได้ มาถึงช่วงการประมูลที่สร้างสถิติการประมูลยาวนานถึง 4 วัน 4 คืน โดยมีมูลค่าการประมูลรวมเป็นตัวเลขถึง 151,952 ล้านบาท จนในที่สุดก็ได้ผู้ชนะออกมา 2 ราย (จากทั้งหมด 4 ราย) ซึ่งเป็นผลที่พลิกล็อคและหักปากกาเซียนแทบจะทุกสำนัก !

ผลการประมูลอย่างเป็นทางการหลังจบการเคาะการประมูลรอบที่ 199 ปรากฏว่าผู้ชนะคือ Jas (สล็อต 1) เสนอราคาที่ 75,654 ล้านบาท และ True (สล็อต 2) ที่เสนอราคาที่ 76,298 ล้านบาท ส่วน Dtac และ AIS ถึงแม้จะพ่ายไป แต่เมื่อดูจากราคาสุดท้ายที่ยื่นมาแล้วก็ถือว่าสูสีมากๆ ครับ โดย Dtac ที่เสนอราคาสุดท้าย 70,180 ล้านบาทสำหรับแย่งสล๊อตที่ 1 และ AIS เสนอราคาสุดท้ายที่ 75,976 ล้านบาท เพื่อแย่งสล๊อตที่ 2

เมื่อผลประมูลออกมาอย่างนี้ ถือว่าเหนือความคาดหมายของนักวิเคราะห์หลายคนพอสมควร จากเดิมทีที่ประเมินว่า AIS กับ Dtac จะเป็นผู้ชนะ เนื่องจากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ใช้และจำนวนคลื่นที่ถือครองอยู่ในปัจจุบัน ทั้งสองค่ายนั้นดูจะมีความจำเป็นมากที่สุด แต่เมื่อผลออกมาแบบพลิกโปอย่างงี้จึงทำให้เกิดไฮไลท์อื่นๆ ตามมาอีกมากมาย โดยเฉพาะการมาของผู้เล่นรายใหม่ที่ชื่อว่า Jas (แจ๊ส มาจากชื่อเต็มๆ ว่า Jasmine) ที่หวังว่าจะเข้ามาเป็น “ตัวเลือกที่ 4” ให้กับผู้ใช้บริการได้ตัดสินใจ (จริงๆ ในไทยยังมีผู้ให้บริการอีก 2 ค่ายนะครับ คือ TOT และ CAT แต่สองรายนี้เป็นรัฐวิสาหกิจ ในขณะที่ AIS, Dtac, True และ Jas เป็นเอกชนเต็มตัวดูมีภาษีและขีดความสามารถในการแข่งขันที่ค่อนข้างเหนือกว่า) ซึ่งวันนี้ผมจะมาสรุปประเด็นและบทวิเคราะห์เล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับทิศทางของทั้ง 4 ค่ายหลังจากจบการประมูลคลื่น 900MHz ให้ทุกท่านได้รับชมกันครับ

(ตารางสรุปการถือครองคลื่นของเอกชนในประเทศไทย โดย @yoware)

ก่อนจะลงรายละเอียดไปในแต่ละค่าย ผมยากจะปูพื้นและสรุปภาพรวมให้ทุกคนเห็นก่อนว่า ตอนนี้ใครถือคลื่นอะไรบ้าง ดังตารางด้านบน ซึ่งสรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้

  • True ถือครองคลื่นไว้ในมือเยอะที่สุด ทั้ง 850MHz (เช่า CAT มา), 900MHz, 1800MHz และ 2100MHz และมีระยะเวลาในการเป็นเจ้าของยาวนานมาก
  • AIS เหลือคลื่นในมือเพียง 2 ย่าน คือ 1800MHz และ 2100MHz เหลือระยะเวลาให้ใช้คลื่นทั้งสองได้อีกระยะเวลานานพอๆ กับ True (มีอัพเดทล่าสุด ในหัวข้อต่อไป)
  • Dtac ถือครองคลื่นอยู่ 3 ย่านได้แก่ 850MHz, 1800MHz และ 2100MHz แต่หลังจากปี 2561 คลื่น 850MHz และ 1800MHz จะหมดอายุลง
  • Jas มีคลื่น 900MHz ที่เพิ่งประมูลได้ใหม่เพียงคลื่นเดียว
  • CAT มีคลื่น 850MHz (ที่ให้ True เช่าไป) และ 1800MHz ที่กำลังจะหมดอายุพร้อมๆ ของ Dtac
  • TOT มีคลื่นในมือเพียง 2 ย่าน คือ 2100MHz และ 2300MHz (ไม่ได้ระบุในตาราง) แต่สำหรับคลื่น 2300MHz นี้ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก และมีอุปกรณ์ที่รองรับยังไม่มาก

AIS

อย่างที่ได้เกริ่นในตอนแรกว่า AIS แทบจะนอนมาคว้าชัยในศึกประมูลคลื่น 900MHz ไปครอง เนื่องจากมีความจำเป็นต้องเอาไปรองรับลูกค้าเดิมที่แออัดอยู่แล้วให้คล่องตัวมากขึ้น แต่แล้วใครจะไปคิดว่า AIS จะขอหมอบยอมแพ้ให้ True ไปโดยภายหลังได้ออกมาชี้แจงว่า ราคาดังกล่าว “เกินลิมิต” ที่ตัวเองได้ประเมินไว้ตั้งแต่ตอนแรก แสดงให้เห็นถึงวินัยของผู้บริหาร ที่วางแผนมาเท่าใดก็เท่านั้น เช่นเดียวกับตอนที่ประมูลคลื่นดิจิตอลทีวี ที่ถึงแม้จริงๆ แล้วบริษัทแม่ของ AIS อย่าง Intouch มีศักยภาพที่จะคว้าไว้ได้ แต่ถ้าประเมินแล้วว่าเกินขีดจำกัดของตัวเอง ก็จะหยุดทันที

สถานการณ์ต่อไปของ AIS หลังจากการประมูลครั้งนี้ แม้จะพลาดคลื่น 900MHz ไป แต่อีก 2 คลื่นที่มีทั้ง 1800MHz และ 2100MHz ยังสามารถพอใช้งานไปได้อีกนาน อย่างน้อยก็ปี 2570 สถาณการณ์ยังดูดีกว่า Dtac มาก ที่คลื่น 850MHz และ 1800MHz จะหมดอายุลงในอีก 3 ปีข้างหน้า แต่อาจจะมีข้อจำกัดตรงขนาดแบนวิดท์ที่อาจจะมีไม่มากพอในพื้นที่ที่มีการใช้งานแน่นๆ

อัพเดทล่าสุด (มิถุนายน 2559) : AIS เสียบ Jas คว้าคลื่น 900MHz มาครองได้สำเร็จ

เมื่อ Jas ทำเซอไพรซ์วงการ ด้วยการไม่สามารถหาหลักประกันจากธนาคารมายื่นให้กับทาง กสทช. ได้ทันกำหนด ทำให้ กสทช. นำคลื่น 900MHz ที่ Jas ได้ มาจัดประมูลใหม่ ซึ่งภายหลัง AIS ได้กลับมาประมูลรับช่วงต่อจาก Jas อีกครั้ง ผลคือ  AIS ได้คลื่น 900MHz กลับมาครองอีกครั้งหนึ่งแล้ว ทำให้ตอนนี้ AIS ถือครองคลื่นทั้งหมด 3 ย่าย รวม 40MHz ดังตารางคลื่นในมือผู้ให้บริการโทรคมนาคม ซึ่งอัพเดทล่าสุด ณ เดือนมิถุนายน 2559

 

 


Dtac

การปราชัยของ Dtac ครั้งนี้กระทบต่อความภาพลักษณ์เชื่อมั่นของทั้งนักลงทุนและลูกค้าพอสมควร เพราะเป็นการแพ้ประมูลถึงสองครั้งติด (ตั้งแต่คลื่น 1800MHz ที่เปิดประมูลไปเมื่อเดือนที่แล้ว) เนื่องจากคลื่นที่ถืออยู่ในมือตอนนี้ทั้ง 850MHz และ 1800MHz จะหมดอายุลงในอีก 3 ปีข้างหน้า และไม่มีอะไรมารับประกันได้ว่าหลังจากนั้นจะมีการเปิดประมูลคลื่นที่หมดอายุไปแล้วให้นำกลับมาใช้ใหม่อีกหรือไม่ อันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนทางการมือง และปัจจัยอื่นๆ ที่ตอนนี้ก็มีข่าวออกมาว่า กสทช. จะกันคลื่น 850MHz ไปใช้ในกิจการรถไฟฟ้าความเร็วสูงของประเทศไทย ซึ่งในจุดนี้ผู้ใช้ของ Dtac ต้องลุ้นกันต่อไปครับ

หลังจากทราบผลการประมูล ทาง Dtac ได้ออกแถลงว่าจะนำเงินส่วนที่ประมูล 900MHz ไม่ได้นั้น ไปพัฒนาระบบ 3G/4G ที่มีอยู่แล้วให้มีคุณภาพและคงอัตราค่าบริการที่คุ้มค่าเพื่อรักษาฐานผู้ใช้ให้ดีที่สุด แต่ในทางกลับกันหาก Dtac ยังมีปัญหามีคลื่นความถี่ “ไม่พอใช้” ก็มีข่าวลือว่าบริษัทแม่ของ Dtac อย่าง Telenor จากประเทศนอร์เวย์ อาจจะยอมถอยและขายธุรกิจในประเทศไทยเพื่อไปลุยกับตลาดพม่าที่กำลังมีแนวโน้มว่าจะเติบโตในอนาคตอีกด้วย น่าติดตามกันต่อไปครับ


True

หลังจากจบการประมูลทั้งสองคลื่น คนที่ดูหล่อและเนื้อหอมที่สุด ณ ตอนนี้คงจะเป็น True เพราะถึงแม้เดิมทีจะถือทั้งคลื่น 850MHz (เช่า CAT มา) และ 2100MHz อยู่แล้ว ยังได้คลื่น 900MHz และ 1800MHz จากการประมูลมาเสริมทัพด้วย ทำให้ตอนนี้ True กลายเป็นเจ้าที่ถือครองคลื่นความถี่เยอะที่สุดในบรรดา 4 ค่าย แถมแต่ละคลื่นยังมีอายุการใช้งานที่นานพอสมควรอีกด้วย (ดังตารางด้านบน)

ไฮไลท์สำคัญคือการได้คลื่น 900MHz เข้ามาแบบเหนือความคาดหมาย ซึ่งคลื่นนี้มีจุดเด่นตรงที่ส่งสัญญาณได้ไกลกว่าคลื่นอื่นๆ ของคู่แข่งถึง 3 เท่า ทำให้ True จะประหยัดต้นทุนในการขยายเครือข่ายให้เข้าถึงพื้นที่ห่างไกลตามต่างจังหวัดได้ง่ายยิ่งขึ้น ปิดจุดอ่อนเดิมของ True ในอดีต ที่คนมักพูดกันว่าพอไปต่างจังหวัดแล้วคลื่น True ไม่ค่อยมี หลังจากนี้น่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีมากยิ่งขึ้นครับ และหากย้อนไปสมัยที่คลื่น 900MHz อันเดียวกันนี้ตอนอยู่ในมือของ AIS ก็เคยสร้างชื่อ สร้างฐานลูกค้า และสร้างรายได้ให้กับ AIS อย่างมหาศาล สังเกตได้จากในอดีต(สมัย 2G) ที่ผู้ใช้ตามต่างจังหวัดส่วนใหญ่มักนิยมใช้ AIS เนื่องจากมีคลื่นที่ครอบคลุมมากกว่าค่ายอื่นๆ ซึ่งเบื้องหลังของจุดขายนี้ก็คือเจ้าคลื่น 900MHz นั่นเองครับ แต่หลังจากการประมูลครั้งนี้จบ True จะได้คลื่นดังกล่าวไปทำกิจการแทน AIS ซึ่งคาดกันว่าจะนำไปให้บริการ 4G

และด้วยความที่ True สะสมคลื่นไว้เยอะที่สุด ถึงแม้ปัจจุบันจะเปิดให้บริการ 4G มาก่อนแล้วถึง 2 ปี แต่ในอนาคตยังสามารถนำคลื่นที่มีอยู่พัฒนาเทคโนโลยี 4G ใหม่ ที่เร็วกว่าเดิมอย่าง 3Band LTE-A เหมือนในประเทศเกาหลีใต้ได้อีกด้วย ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวถือการจับคลื่นสามย่าน อย่าง 900MHz, 1800MHz และ 2100MHz มามัดรวมกัน ทำให้ได้ความเร็วในการใช้งานสูงสุดถึง 300 Mbps เลยทีเดียวครับ

(ที่มารูปภาพ Korea Joongang Daily)

Jas

Jas หรือชื่อเต็มๆ คือ Jasmine เป็นบริษัทน้องใหม่ในวงการสื่อสารแบบไร้สาย ถึงแม้จะอกหักจากการประมูลคลื่น 1800MHz ไปเมื่อเดือนก่อน แต่ครี่งนี้ก็ได้สวมบทเป็นม้ามืดปาดหน้า Dtac คว้าคลื่น 900MHz ไปครองได้สำเร็จ

ถึงแม้จะเป็นน้องใหม่ในวงการสื่อสารไร้สาย แต่ถ้าในวงการสื่อสารและบันเทิงอื่นๆ Jas ไม่เป็นรองใคร (ใน 3 บริษัทนี้) แน่นอน เพราะถ้าพูดถึง Jas อย่างเดียว หลายคนอาจยังไม่คุ้นหู แต่ถ้าพูดถึงบริษัทลูกอย่าง 3BB, MONO29, MONO FILM, เว็บไซต์ Mthai และสื่อออนไลน์อื่นๆ หลายคนน่าจะรู้จักมากกว่าเดิม ต้องจับตาดูกันต่อไปครับว่า Jas จะมีลูกเล่นอะไรมาดึงลูกค้าให้ไปใช้บริการของตน

ส่วนเรื่องที่หลายคนเป็นห่วงว่า Jas จะสู้เครือข่ายอื่นไหวไหม เพราะยังไม่มีเสาสัญญาณและเครือข่ายของตนเลย ความจริงคือ Jas ไม่ได้เริ่มจาก 0 เสียซะทีเดียวครับ ถ้าพูดถึงเรื่องโครงข่าย Jas มีโครงข่ายแบบสาย (สายเคเบิลของ 3BB นั่นเอง) ที่แข็งแกร่งมาก เพียงนำเสาหรือเครื่องส่งสัญญาณไปติดตามชุมชุนหรือตึกสูงๆ ก็แทบจะใช้งานได้เลย นอกจากนี้ยังมีข่าวลือว่า Jas อาจจะเช่าเสาส่งสัญญาณของเครือข่ายอื่นๆ ด้วย

จากการวิเคราะห์แล้วแผนของ Jas ดูยิ่งใหญ่และต้องใช้เงินลงทุนอีกมาก จึงเป็นที่มาของอีกข่าวลือที่ว่า Jas เตรียมจับมือกับ SK Telecom บริษัทยักษ์ใหญ่จากเกาหลีใต้เพื่อนำทุนและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาให้บริการอีกด้วย น่าติดตามจริงๆ ครับ

สรุป

การประมูลครั้งนี้ผู้แพ้อย่าง AIS ยังคงไม่เสียหายไปซะทีเดียว สามารถนำเงินที่เหลือมาปรับปรุงโครงข่ายเดิมให้มีประสิทธิภาพเพื่อรองรับลูกค้าเดิมต่อไปได้ ส่วน Dtac ถึงแม้ตอนนี้ยังมีคลื่นใช้เพียงพออยู่ แต่เกือบทั้งหมดก็จะสิ้นสุดสัมปทานไปในอีก 3 ปีข้างหน้า ก็คงต้องลุ้นกันหนักหน่อยว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรและจะกู้ศรัทธาและความเชื่อมั่นในสายตาของผู้ใช้กลับมาได้อย่างไร

ในฝั่งผู้ชนะอย่าง True ตอนนี้ต้องบอกว่าติดปีกเหนือคู่แข่งรายอื่นๆ ด้วยคลื่นที่มีในมือเยอะและหลากหลายที่สุด โดยเฉพาะการมาของ 900MHz ที่จะมาแก้จุดอ่อนเรื่องพื้นที่การให้บริการของ True ตามพื้นที่ในต่างจังหวัด อีกทั้งสามารถต่อยอดไปทำเทคโนโลยีขั้นที่เหนือกว่า (เช่น 3Band LTE-A) ในอนาคตได้ ส่วนน้องใหม่อย่าง Jas ที่อาสามาเป็นขั้วที่ 4 ของวงการมือถือ ถึงแม้จะได้คลื่นมาครองสมใจ แต่น่าจะต้องเหนื่อยและใช้พลังในการสร้างระบบพื้นฐานมากกว่าใครเพื่อน ซึ่ง Jas จะประกาศแผนการดำเนินงานอย่างไร เร็วๆ นี้คงได้ทราบกันครับ

ตั้งแต่ปีหน้า (2559) เป็นต้นไป ท่าทีการแข่งขันของทั้ง 4 ค่ายนี้น่าจะชัดเจนและรุนแรงขึ้นเรื่องๆ ในระยะแรกสิ่งที่ผมคาดไว้เลยคือแต่ละค่ายเตรียมออก “โปรลับ” หรือโปรโมชั่นง้อลูกค้าเก่าไม่ให้ย้ายไปค่ายอื่น และแต่ละค่ายก็น่าจะมี “โปรดูด” สำหรับให้ลูกค้าจากค่ายอื่นให้ย้ายมาใช้บริการของตนกันอย่างรุนแรงและเร้าใจมากยิ่งขึ้น หรือเรียกได้ว่าเป็น “อุบัติการแห่งพลัง 4G” ที่น่าจะดุเดือดขึ้นมาในระยะเวลาอันใกล้นี้ แต่ทั้งหมดนี้ท้ายที่สุดแล้วผลประโยชน์ทั้งหมดนี้จะตกไปอยุ่ที่ผู้บริโภคแบบ เราๆ ที่จะได้มีตัวเลือกเยอะขึ้น ได้ใช้บริการที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม

4G ค่ายไหนดี, เร็ว แรงสุด ?

หลังจากจบมหากาพย์การแย่งชิงคลื่น ตอนนี้สงครามเริ่มสงบลง ค่ายน้องใหม่อย่าง Jas สะดุดขาตัวเองล้มลง ทำให้ยังคงเหลือผู้เล่นเป็น 3 ค่ายหลักเหมือนเดิม ส่วน 2 ค่ายอย่าง True และ AIS ยังได้อาวุธเป็นคลื่น 900MHz ไปเสริมแกร่งให้ตนเองอีกด้วย ส่วนถ้าถามว่า จะใช้ 4G ค่ายไหนดี, ค่ายไหนเร็วสุด แรงสุด ตอนนี้ที่น่าจับตาสุด จะขอสรุปให้ดังนี้ครับ

เริ่มจาก Dtac ถึงแม้จะไม่ชนะการประมูลทั้งสองครั้งที่ผ่านมา แต่ก็ได้ขยายการให้บริการ 4G จากเดิม 5MHz (บนคลื่นความถี่ 2100MHz) เป็น 15MHz (บนคลื่นความถี่ 1800MHz) ทำให้ความเร็วเพิ่มขึ้น 3 เท่า มีความเร็วสูงสุดถึง 126 Mbps โดยมีกำหนดว่าจะครอบคลุมทุกอำเภอ 878 อำเภอทั่วประเทศไทย ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2559

ทางด้านของ True ที่มีคลื่นในมือเยอะสุด ได้เปิดให้บริการ 4G+ ทำความเร็วได้สูงสุด 300Mbps แต่ยังคงมีจุดอ่อนตรงที่พื้นที่ที่ปล่อยสัญญาณ 900MHz ยังไม่ครอบคลุม เพราะเป็นการเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด

ส่วน AIS ที่เคยมีคลื่น 900MHz ใช้มาก่อนใครอยู่แล้ว ทำให้ตอนนี้ AIS สามารถใช้บริการมือถือผ่านคลื่น 900MHz ได้ต่อทันที ไม่ต้องรอการติดตั้งใดๆ เหมือนของ True

พร้อมกันนี้ AIS ยังได้เปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด 4.5G เป็นที่แรกในโลก ด้วยความร่วมมือกับ Huawei ผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายจากประเทศจีน ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี LTE-U/LAA ที่นำคลื่น 2 ความถี่มาให้บริการรวมกัน และใช้เทคโนโลยี MIMO 4×4 เพิ่มเสาสัญญาณเป็น 4 เสา สามารถทำให้รับส่งข้อมูลพร้อมกันเป็นจำนวนมากๆ ได้ โดยสามารถทำความเร็วได้สูงสุด 550Mbps ถึง 1Gbps เลยทีเดียว


ส่งต่อเรื่องนี้ให้เพื่อน!