ลองเล่นแอพ 360 Security : ดีอย่างที่โฆษณา (เครื่องเร็วขึ้น/ปลอดภัยขึ้น) จริงหรือ ?

ช่วงนี้หลานคนอาจสังเกตว่าเห็นโฆษณาทางโทรทัศน์หลายช่องมีโฆษณาแอพตัวหนึ่งชื่อว่า “360 Security” โดยบอกว่าแอพนี้จะทำให้เครื่องเราเร็วขึ้น และปลอดภัยขึ้น

ฟังคำโฆษณาแบบนี้ครั้งแรกแล้วผมสะดุดมาก เลยขอมาพิสูจน์หน่อยครับ ว่าดีจริงหรือไม่ เมื่อเข้าไปค้นหาแอพนี้ที่ App Store และ Play Store พบว่าแอพดังกล่าวติดอันดับแอพฟรียอดนิยมซะด้วย แสดงว่ามีคนไทยหลายคนโหลดไปแล้วไม่น้อยเลยทีเดียว

เมื่อดูข้อมูลลึกๆ ลงไป พบว่าแอพนี้พัฒนาโดยบริษัท Qihoo จากประเทศจีน ซึ่งเป็นคู่แข่งกับ Baidu ที่คนไทยเรารู้จักกันดีนั่นเอง

เริ่มจาก 360 Security เวอร์ชั่น iPhone ก่อนครับ, เมื่อเปิดเข้ามาใช้งานครั้งแรก จะมีป็อปอัพแจ้งเตือนเราว่า ให้เราเตรียมกดปุ่ม OK เพื่ออนุญาตให้แอพแจ้งเตือน และเข้าถึงรูปภาพในเครื่องของเราได้

เข้ามาหน้าแรกของแอพ มีสองเมนูใหญ่ๆ ให้เห็น คือ รูปภาพ และแบตเตอร์รี่ ในส่วนของแบตเตอร์รี่ก็จะเป็นเพียงการบอกแค่ว่าแบตเราเหลือเท่าใด สามารถใช้งานได้อีกประมาณกี่ชั่วโมงเท่านั้น …ไม่ได้ช่วยให้ประหยัดแบตขึ้นนะครับ

ในส่วนของ รูปภาพ จะเป็นการช่วยให้เราเพิ่มพื้นที่จากการบีบอัดรูปภาพเดิม ให้มีความละเอียดลดลง, ลดรูปภาพที่ถ่ายซ้ำๆ (ถ่ายมุมใกล้เคียงกัน) หรือช่วยลบรูปภาพต้นฉบับที่ตัว iOS เก็บไว้ เป็นต้น

สรุป : 360 Security เวอร์ชั่น iPhone มีเพียง 2 ฟีเจอร์หลักๆ คือ ดูสถานะแบตฯ กับช่วยลบรูปภาพออก ให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้นมา ซึ่งกลับไปดูคำโฆษณาแล้ว ที่บอกว่าทำให้เครื่องลื่นขึ้น เร็วขึ้น คงจะเกินจริงไปซะหน่อยครับ แต่ก็ไม่ถึงเสียหายอะไรยังพอมีประโยชน์อยู่บ้าง (ช่วยหารูปซ้ำ)

ปิดท้ายด้วย ผมลองทดสอบปิด WiFi และตั้งค่าไม่ให้ 360 Security ใช้เน็ตจากเครือข่าย (Cellular) ปรากฏว่าตัวแอพ 360 Security ร้องขึ้นมาทันทีครับว่าให้เราเปิดใช้งาน Cellular Data …จุดสังเกตคือ เป็นแอพที่มีฟีเจอร์แค่นี้ทำไมจำเป็นต้องใช้เน็ต ? แอบส่งข้อมูลอะไรออกไปหรือเปล่า ??? อันนี้ผมก็ไม่ทราบครับ

ต่อไปมาลอง 360 Security เวอร์ชั่น Android ดูบ้างครับ …ก่อนติดตั้งเห็นรายการที่แอพนี้ขออนุญาตเราแล้ว ตกใจมากครับ ทำไมขอเยอะขนาดนี้ !

รายการที่ 360 Security ขออนุญาตเราเพื่อเข้าถึงฟีเจอร์ต่างๆ ในเครื่องของเรา (แปลภาษาไทย)

อุปกรณ์และประวัติแอป
  • อ่านบุ๊กมาร์กและประวัติเว็บของคุณ
  • เรียกแอปที่ทำงานอยู่
ข้อมูลระบุตัวตน
  • ค้นหาบัญชีในอุปกรณ์
  • เพิ่มหรือนำบัญชีออก
รายชื่อติดต่อ
  • ค้นหาบัญชีในอุปกรณ์
  • อ่านผู้ติดต่อของคุณ
  • แก้ไขผู้ติดต่อของคุณ
ตำแหน่ง
  • ตำแหน่งที่แม่นยำ (อิงตาม GPS และเครือข่าย)
  • ตำแหน่งโดยประมาณ (อิงตามเครือข่าย)
SMS
  • แก้ไขข้อความของคุณ (SMS หรือ MMS)
  • รับข้อความ (SMS)
  • ส่งข้อความ SMS
  • อ่านข้อความของคุณ (SMS หรือ MMS)
โทรศัพท์
  • อ่านสถานะและข้อมูลระบุตัวตนของโทรศัพท์
  • เขียนประวัติการโทร
  • อ่านประวัติการโทร
  • โทรไปยังหมายเลขโทรศัพท์โดยตรง
รูปภาพ/สื่อ/ไฟล์
  • แก้ไขหรือนำเนื้อหาในที่จัดเก็บข้อมูล USB ออก
  • อ่านเนื้อหาในที่จัดเก็บข้อมูล USB
พื้นที่เก็บข้อมูล
  • แก้ไขหรือนำเนื้อหาในที่จัดเก็บข้อมูล USB ออก
  • อ่านเนื้อหาในที่จัดเก็บข้อมูล USB
กล้องถ่ายรูป
  • ถ่ายภาพและวิดีโอ
ข้อมูลการเชื่อมต่อ Wi-Fi
  • ดูการเชื่อมต่อ WiFi
ID อุปกรณ์และข้อมูลการโทร
  • อ่านสถานะและข้อมูลระบุตัวตนของโทรศัพท์
อื่นๆ
  • ลบข้อมูลของแอปอื่น
  • รับข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต
  • อัปเดตสถิติการใช้ส่วนประกอบ
  • อ่านการตั้งค่าและทางลัดหน้าแรกแล้ว
  • ควบคุมการสั่นเตือน
  • ทำงานเมื่อเริ่มต้น
  • ใช้งานบัญชีในอุปกรณ์
  • ปิดคลุมแอปพลิเคชันอื่นๆ
  • เขียนบุ๊กมาร์กและประวัติเว็บ
  • จับคู่กับอุปกรณ์บลูทูธ
  • เชื่อมต่อและยกเลิกการเชื่อมต่อ WiFi
  • สร้างบัญชีและตั้งรหัสผ่าน
  • เปลี่ยนการเชื่อมต่อเครือข่าย
  • ป้องกันไม่ให้อุปกรณ์เข้าสู่โหมดสลีป
  • ปิดแอปพลิเคชันอื่นๆ
  • แก้ไขการตั้งค่าระบบ
  • ติดตั้งทางลัด
  • เข้าถึงการตั้งค่าบลูทูธ
  • ขยาย/ยุบแถบสถานะ
  • อ่านการกำหนดค่าของบริการ Google
  • ตั้งปลุก
  • ดูการเชื่อมต่อเครือข่าย
  • วัดพื้นที่เก็บข้อมูลของแอป
  • ลบข้อมูลแคชทั้งหมดของแอป
  • การเข้าถึงเครือข่ายเต็มรูปแบบ
  • ถอนการติดตั้งทางลัด

จากรายการที่ร้องขอด้านบน จะเห็นว่าทางแอพ 360 Security เวอร์ชั่น Android ขอสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลและฟีเจอร์ต่างๆ ในเครื่องเราครอบจักรวาลมาก ผมขอยกอันที่น่ากลัวๆ ดังนี้

  • อ่านรายชื่อในบัญชีรายชื่อเราได้ว่ามีใครบ้าง
  • ขอสิทธิ์ในการส่ง SMS ออก
  • ขออ่านข้อมูลการโทรศัพท์และโทรออกไปยังเบอร์อื่นๆ ได้
  • ขอสิทธิ์เพิ่มหรือนำบัญชีออกที่ผู้กับเครื่องของเราได้
  • ระบุตำแหน่งเราตามพิกัด GPS
  • เปลี่ยนการเชื่อมต่อเครือข่าย (????)
  • อ่านสถานะและข้อมูลระบุตัวตนของโทรศัพท์
  • เขียนบุ๊กมาร์กและประวัติเว็บ

ซึ่งรายการเหล่านี้ ถ้าเป็นแอพล้างไฟล์ขยะหรือตรวจจับไวรัสทั่วไป ไม่เห็นจำเป็นที่จะต้องขอเลยครับ มันเป็นฟีเจอร์และส่วนของข้อมูลที่ละเอียดอ่อนมาก ดังนั้นผมขอจบบทความนี้แบบปาหมอน ด้วยการไม่ขอทดสอบ 360 Security เวอร์ชั่น Android ครับ (เพราะเครื่อง Android ที่ผมมีตอนนี้ เป็นเครื่องที่ใช้ประจำ ยังไม่กล้าเสี่ยง)

และขอฝากอีกบทความดีๆ ที่อยากให้คนใช้ Android ทุกคนได้เสียเวลาอ่านกัน เป็นบทความจากคุณ @nuuneoi เรื่อง สิ่งที่ไม่เคยมีใครบอกคุณมาก่อน “มันง่ายมากที่จะเขียนแอพฯมาขโมยข้อมูลส่วนตัวคุณ” (คลิก)

*** 18:10 น. อัพเดทเพิ่มเติมในส่วนของ iPhone ครับ

มีผู้ชมท่านหนึ่ง ส่งข้อมูลเข้ามาหลังไมค์ บอกว่าเจอแอพนี้โฆษณาตามเว็บอื่นๆ เป็นโฆษณาประเภท pop-up ที่ขึ้นแทรกมาทันที โดยมีข้อความแจ้งเตือนว่า “แบตเตอรี่คุณได้รับความเสียหายร้ายแรงจาก (4) ไวรัส” พร้อมข้อความประกอบต่างๆ นาๆ จากนั้นก็มีปุ่มให้กด “ซ่อมแซมอย่างรวดเร็วตอนนี้เลย” เมื่อกดไปแล้วก็จะเด้งเข้าหน้า App Store ให้โหลดแอพ 360 Security เหมือนที่ผมเอามารีวิวด้านบน

จะเห็นว่าแบนเนอร์แบบนี้ มีเจตนาที่ต้องการขู่ให้เรากลัวเพื่อที่จะติดตั้งแอพ 360 Security ที่เขาอ้างว่าป้องกันภัยเหล่านั้นได้ แต่ถ้ามองตามความเป็นจริง …แบตเตอร์รี่โทรศัพท์ของเรามันติดไวรัสได้ด้วยหรอ ???? และประเด็นที่สองคือ ถึงแบตเตอร์รี่เราติดไวรัสจริง ไอ้แอพที่ว่านี้มันมีฟีเจอร์ฆ่าไวรัสได้หรอ ??? เพราะ อย่างที่ผมได้กล่าวไปข้างบนว่า 360 Security เวอร์ชั่น iPhone มันทำได้แค่ดูสถานะแบตกับลบรูปภาพได้เท่านั้น

เพียงเท่านี้ก็พอจะสรุปได้ว่า คนที่พยายามโปรโมทแอพ 360 Security มีเจตนาเป็นอย่างไร …ขอให้ทุกท่านโปรดพิจารณากันเองครับ


ส่งต่อเรื่องนี้ให้เพื่อน!